กระแส Smart City ในชั่วโมงนี้ถือว่าแรงไม่มีแผ่วทั่วทุกมุมโลก หากนับรวมพื้นที่ชุมชนที่ตีเส้นถนนไว้ให้จักรยานใช้และเรียกตัวเองว่า Smart City ด้วย… ก็คงบอกได้ทันทีว่า Smart City มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกแล้วหล่ะครับ… ในประเทศไทยก็ไม่ได้น้อยหน้า เรามีหน่วยงานระดับองค์การมหาชนอย่าง DEPA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เคลื่อนไหวผลักดันหลายๆ พื้นที่ในเมืองไทย เพื่อยกระดับสู่การเป็น Smart City ด้วยนิยามที่หลากหลาย… แต่ก็มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชุมชนที่ได้ชื่อว่า Smart City ให้ก้าวไปอีกขั้น
หันมาดูฝั่งเอกชน… กลุ่มนักพัฒนาที่ดินรายเล็กรายใหญ่ ต่างมองหาโซลูชั่นระดับ Smart City ใส่เข้าไปในการออกแบบโครงการ… แน่นอนว่าคีย์เวิร์ดอย่าง Smart City หากโครงการไหนดีไซน์ฟังก์ชั่นได้โดนใจตลาด หรือไปไกลถึงขั้นเป็นเจ้าของนวัตกรรมต้นแบบของ Smart City ที่คนร้องว๊าว… จนคู่แข่งร้องว๊าย
…ผมคงไม่ต้องบอกว่าผลตอบแทนการลงทุนจะมาจากช่องทางไหนได้บ้าง!
สำหรับท่านที่ติดตามอ่านงานเขียนของผมบน Properea.com มาตั้งแต่ต้น คงทราบดีว่าผมเจาะเขียนถึงชิ้นส่วน Smart City มาเป็นระยะด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า… ทุกๆ Pain Point ในชีวิตประจำวันของทุกคน ของทุกชุมชน ของทุกเมืองและของทุกประเทศ… จะถูกทดแทนด้วยอะไรใหม่ๆ ที่ว๊าวกว่า
สำหรับแนวคิดการออกแบบและจัดการ Smart City ในระดับงานวิจัย ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบค้นอ่านบทคัดย่องานวิจัยตามเวบที่นักวิชาการต้องเผยแพร่ผลงานบ้าง เวบไซด์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ บ้าง… งานวิจัยที่ใช้คีย์เวิร์ด Smart City จำนวนมากที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในช่วง 5 ปีมานี้มักจะพูดถึง “ระบบจัดการขยะ”
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยมีประสบการณ์กับรถขนขยะบนถนน ในเมือง ในซอย หน้าบ้าน หรือแม้แต่จอดกระพริบไฟขวางหน้ารถในชั่วโมงที่ปวดฉี่สุดๆ อยู่หลังพวงมาลัย…
ผมค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีขนขยะทางท่อมานาน คอยมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารเป็นระยะมาตลอด… ราวๆ ปี 2016 ผมได้ยินคำพูดของเอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งพูดถึงเมือง Bergen ในนอร์เวย์ที่ทดลองใช้ระบบจัดการขยะ หรือ Waste Management System… ผมค้นข้อมูลหาอ่านเท่าที่หาได้ตอนนั้น แล้วก็ผ่านไป… จนกระทั่งมีน้องๆ ทีม PropTech Startup กลุ่มหนึ่ง ขอให้ช่วยวิพากย์โปรเจคที่จะเอาขึ้น Pitch ราวๆ เดือนสิงหาคมนี้ผมเลยได้ปัดฝุ่นข้อมูลระบบจัดการขยะอีกครั้ง…
ระบบจัดการขยะของ Bergen เป็นแบบ Stationary Vacuum System จาก Envac ซึ่งจะลำเลียงขยะด้วยระบบท่อสูญญากาศจากจุดทิ้งไปบรรจุคอนเทนเนอร์ในโรงขยะที่อยู่ไม่ไกลนัก และให้รถมารับคอนเทนเนอร์ที่มีขยะเต็มคอนเทนเนอร์ ลำเลียงออกไปจัดการต่ออีกทีหนึ่ง… สิ่งที่ได้แน่ๆ คือ ชุมชนที่วางท่อลำเลียงขยะไว้ใต้ดิน นอกจากจะกำจัดขยะออกจากถนนได้แล้ว ยังไม่ถูกรถขยะรบกวนในชีวิตประจำวันด้วย
ปัจจุบัน… ระบบจัดการขยะใน Bergen จัดการขยะในพื้นที่ได้เพียง 4 ตันต่อวันเท่านั้น… ตัวเลขแบบนี้ก็ประเมินได้ว่า คงเป็น Pilot Study อย่างแน่นอน… สำหรับท่านที่สนใจข้อมูล คลิกที่นี่ครับ
สำหรับรายละเอียดทางเทคนิค… ผมเชื่อว่าวิศวกรไทยสามารถออกแบบระบบได้ดีไม่ต่างกัน โดยไม่ต้องไปดูงานหรือนำเข้า Know how… เว้นแต่จะอยากไปเที่ยวนอร์เวย์
ที่จริงผมก็ไม่ได้มีข้อมูลมากมายอะไร นอกจากค้นคว้าเอาจากสื่อและเอกสารที่เผยแพร่อยู่แล้ว เหมือนนักวิจัยทำ Literature Review… ล่าสุด โครงการ Barking Riverside ซึ่งเป็นชุมชนฝั่งตะวันออกของลอนดอนขนาด 10800 ยูนิต… ก็ได้นำ Waste Management System ของ Envac เข้ามาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นใหม่แล้วครับ