ในบรรดาแนวทางการวิเคราะห์กราฟราคาหลักทรัพย์และกราฟราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกประเภท… การวิเคราะห์ด้วยการนับคลื่นราคาแบบ Elliott Wave ถือเป็นแนวทาง หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ที่ยากที่สุดหนทางหนึ่ง แต่คำยืนยันจากผู้ใช้ระดับผู้บริหารกองทุนใหญ่ๆ ซึ่งประสบความสำเร็จทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า… Elliott Wave แม่นยำและเชื่อถือได้มากที่สุดกับทุกกราฟราคาสินทรัพย์ที่ต้องการหา Action Price หรือ Action Zone เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุน
ท่านกำลังอ่านบทความชุด Elliott Wave Principle… ตามทฤษฎีของ Ralph Nelson Elliott ซึ่งเขียนขึ้นเป็นหลายตอน เพื่อเจาะลึกเอารายละเอียดในระดับที่ชัดเจนพอจนกลายเป็นแนวทางตั้งต้น ในการเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตัวเองสำหรับทุกท่านที่สนใจแนวทางนี้… ตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ต่อจาก Labelling Elliott Wave Patterns… การติดป้ายเพื่อนับคลื่น ครับ
กราฟราคาหลักทรัพย์โดยธรรมชาติ จะพล็อตขึ้นจากราคาตกลงซื้อขาย ซึ่งถือเป็น Action Price จากนักลงทุนที่มีความเห็นเกี่ยวกับราคาต่างกันคนละขั้ว คนหนึ่งเชื่อว่า “ขายราคานี้” ก็กำไรแล้ว หรือไม่ก็คิดว่าขายราคานี้ขาดทุนน้อยแล้ว ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมั่นใจว่า “ซื้อราคานี้” เดี๋ยวก็ได้กำไรแล้ว หรือไม่ก็คิดว่าราคานี้น่าซื้อแล้ว
ประเด็นก็คือ… ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตัดสินใจจากความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในช่วงเวลานั้น บวกกับข้อมูลข่าวสารในขณะนั้น แต่ได้ “ความเชื่อและการตัดสินใจ” ในแบบของตนเองจนนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อทำ Order Execution อันแตกต่างกันถึงขั้น “คนหนึ่งเชื่อว่าซื้อดีกว่า ในขณะที่อีกคนหนึ่งเชื่อว่าขายดีกว่า” จนทำให้เกิดการซื้อขายและถูกนับรวมเพื่อพล็อตเป็นกราฟราคาขึ้นมา
พฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ที่พล็อตเป็นกราฟออกมาได้ แท้จริงจึงมาจากความเชื่อและการตัดสินใจ หรือ “จิตวิทยา” จากนักลงทุนส่วนใหญ่รวมกัน… ซึ่งถ้าความเชื่อและการตัดสินใจของนักลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาด “เชื่อว่าสินทรัพย์ลงทุนจะแพงขึ้น” ราคาสินทรัพย์ลงทุนก็จะแพงขึ้นตามความเชื่อและการตัดสินใจ “รีบซื้อ” จากนักลงทุนส่วนใหญ่หรือเกินครึ่ง ช่วยกันดันราคาให้สูงขึ้น… แต่ถ้าความเชื่อและการตัดสินใจของนักลงทุนเกินครึ่ง “เชื่อว่าสินทรัพย์ลงทุน ณ ราคาหนึ่งนั้นแพงเกินไปแล้ว หรือ ขายที่ราคานั้นก็ได้กำไรแล้ว” ความเชื่อว่าราคาแพงแล้ว หรือ การตัดสินใจขายเอากำไรที่ราคานั้นก็ดีแล้วจากนักลงทุนส่วนใหญ่ ก็จะช่วยกันกดราคาสินทรัพย์ให้ต่ำลงกว่านั้น
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ถึงแม้เกิดแนวโน้มความเชื่อและการตัดสินใจหลักว่า “ราคาสินทรัพย์ลงทุนจะแพงขึ้นได้อีก” แต่เมื่อราคาสินทรัพย์แพงขึ้นไปถึงราคาหนึ่งก็จะเกิด “การขายเอากำไรที่ราคานั้นไว้ก่อน” จนเห็นราคาสินทรัพย์ย่อตัวลดลงต่ำจนแรงขายเอากำไรบางลง ราคาสินทรัพย์ลงทุนก็จะดีดกลับสูงขึ้นอีกครั้ง… ในทางกลับกัน หากแนวโน้มความเชื่อและการตัดสินใจหลักปรากฏว่า “ราคาสินทรัพย์ลงทุนนั้นราคาลดลงมามากเกินไปแล้ว” นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจกลับเข้ามา “ช้อนชื้อ” จนทำให้ราคาดีดตัวกลับ หรือ Rebound ไปชนแรงขายของแนวโน้มใหญ่จนราคากลับตัวอีกครั้ง
วงจรราคาของ Elliott Waves จึงเจาะหา “จังหวะขึ้น และ จังหวะลงเป็นวงจรคลื่น” ที่มาจากการตัดสินใจของนักลงทุนส่วนใหญ่ โดยเรียกคลื่นที่กำหนดแนวโน้มหลักจากจำนวนคลื่นสะสม 5 คลื่นว่า Motive Waves โดยจะสิ้นสุดเมื่อเกิดกลับตัวของแนวโน้มราคาสวนทางอีก 3 คลื่น ซึ่งเกิดจากความเชื่อและการตัดสินใจ หรือ เกิดจากจิตวิทยาของนักลงทุนที่ต้องการปรับพอร์ตสู้… โดยหากซื้อสะสมดันราคามามากแล้วก็ทำกำไรออกไปก่อน หรือ ขายออกมากแล้วจนราคาต่ำลงกว่าที่ขายไปก็ซื้อกลับ และเรียกคลื่นราคาสวนทางแนวโน้มหลัก หรือ สวนทาง 5 คลื่นก่อนหน้าไป 3 คลื่นว่า Corrective Waves
แนวโน้มตลาดขาขึ้น หรือ Bullish Trend กับ Motive Waves และ Corrective Waves
ตลาดขาขึ้น หรือ Bullish Trend จะเห็นราคาสินทรัพย์โดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานช่วงหนึ่ง… ซึ่งข้อเท็จจริงของแนวโน้มราคาขาขึ้น จะมีช่วงเวลาที่ราคาลดลงสลับกับเพิ่มขึ้นเป็นคลื่นอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงราคาสูงสุดในคลื่นรอบนั้นจะเรียกว่าจุด HH หรือ Higher–High เมื่อราคาปรับตัวลงมาถึงราคาต่ำสุดในคลื่นรอบนั้น โดยจะต้องเป็นราคาไม่ต่ำกว่าราคา HL ก่อนกลับตัวเพื่อทำราคา HH ก่อนหน้า ก็จะเรียกจุดกลับตัวนั้นว่า HL หรือ Higher–Low… นักวิเคราะห์และนักลงทุนไทยบางท่านจะเรียกยอดคลื่นและท้องคลื่น หรือ จุดกลับตัวในแนวโน้มขาขึ้นนี้ว่า ยกไฮ–ยกโล หรือ ขึ้นสุดลงไม่สุด… ซึ่งถ้ากราฟราคายกไฮยกโลสลับกันไปจนครบ 5 คลื่นเมื่อใด Elliott Waves Theory จะทำนายว่า… ราคาได้ทำ Motive Waves หรือ คลื่นตามแนวโน้ม ซึ่งในกรณีนี้เป็นขาขึ้นจบแล้ว ราคาก็จะกลับตัวทวนแนวโน้มลงมาเพื่อปรับฐานก่อนเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็คือ Corrective Waves ที่จะเห็นราคากลับตัวลดลงต่ำกว่าราคา HL ที่ 4 ก่อนหน้า… ซึ่งราคาที่จุดนี้จะถูกเรียกว่า LL หรือ Lower–Low ก่อนจะดีดตัวกลับไปหาจุดกลับตัวที่ราคาต่ำกว่าราคา HH ที่ 5 ก่อนหน้า และเรียกจุดกลับตัวแบบนี้ว่า LH หรือ Lower–High หรือที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนไทยเรียกว่า กดโล–กดไฮ… ซึ่ง Elliott Waves จะนับ LL แรกเป็นคลื่น A และนับคลื่น LH ที่สองว่าคลื่น B

แนวโน้มตลาดขาลง หรือ Bearish Trend กับ Motive Waves และ Corrective Waves
ตลาดขาลง หรือ Bearish Trend จะเห็นราคาสินทรัพย์โดยรวมปรับลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานช่วงหนึ่ง… โดยข้อเท็จจริงของแนวโน้มราคาขาลงเอง ก็จะมีช่วงเวลาที่ราคาดีดกลับ หรือ Rebound ให้เห็นเป็นคลื่นราคาเช่นกัน… แต่ Motive Waves ในตลาดขาลงจะตรงกันข้ามกับ Motive Waves ขาขึ้น โดยคลื่นราคาจะปรากฏให้เห็นเป็น LL หรือ Lower–Low สลับกับ LH หรือ Lower–High ต่อเนื่องไปให้เห็น 5 คลื่นต่อเนื่องกัน… ก่อนจะทำ Corrective Waves จากราคาดีดตัวกลับไปเป็น HH หรือ Higher–High สลับกับ HL หรือ Higher–Low ให้เห็น 3 คลื่น ABC

ความน่าสนใจของการนับคลื่น Elliott Waves ที่ถูกต้องจึงอยู่ที่ความแม่นยำใน “การทำนายแนวโน้มราคา” ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ที่แม่น Elliott Waves จะสามารถกำหนดกลยุทธ์ล่วงหน้า… วาง Orders ตามกลยุทธ์และรอให้ตลาดพาราคาสินทรัพย์เคลื่อนตัวไปตามการทำนาย… เท่านั้นเอง
บทความในชุด Elliott Wave Principle…
- Elliott Wave Principle… ปฐมบท
- Labeling Elliott Wave Patterns… การติดป้ายและนับคลื่นราคา
- Elliott Motive Waves And Corrective Waves…
- Motive Impulse Wave And Motive Diagonal Wave
- Corrective Sharp Correction และ Corrective Sideways Correction
References…
- https://school.stockcharts.com/doku.php?id=market_analysis:identifying_elliott_wave_patterns
- https://www.investopedia.com/terms/e/elliottwavetheory.asp
- https://www.elliottwave.com
- https://www.lucid-trader.com/elliott-wave/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Elliott_wave_principle
- https://www.elliottwave.com/free-reports/elliott-wave-principle