สุดยอดข่าวดีของ Bitcoin และ Cryptocurrencies ในสัปดาห์ที่ผ่านมา… คงไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่า ประธานาธิบดี Nayib Armando Bukele Ortez หรือ Nayib Bukele หรือ นายิบ บูเคเล วัย 40 ปีของประเทศเอลซัลวาดอร์ หรือ El Salvador ในอเมริกากลาง… ได้เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเพื่อเสนอให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และ รัฐสภาเอลซัลวาดอร์ก็ลงมติให้เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศแรกในโลกที่รับรองให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ผ่านการลงมติรับรองการใช้งานจากรัฐสภาอย่างถูกต้อง
เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังพัฒนาได้เชื่องช้าเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมยังล้าหลัง ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์กว่า 70% ยังไม่มีบัญชีธนาคารใช้ ในขณะที่ตัวเลข GDP ส่วนหนึ่งมาจาก “แรงงานส่งออก และ เงินโอนกลับประเทศ” ซึ่งชาวเอลซัลวาดอร์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่า 10% ในการทำธุรกรรมการโอน โดยเฉพาะความล่าช้าจากการต้องเดินทางไปรับเงินโอน ณ ที่ทำการธนาคารในประเทศที่เส้นทางคมนาคมขนส่งยังไม่ทั่วถึง และ สะดวกพอ… การนำ Bitcoin เข้ามาใช้ในธุรกรรมการเงินจึงเป็นการลดภาระให้กับหลายล้านครอบครัวของแรงงานส่งออก ซึ่งมีรายได้ต่ำแต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และ ค่าเดินทางแสนแพงเพื่อไปเบิกเงินสดเอาส่วนที่เหลือ จากที่ธนาคารในเมืองหักค่าธรรมเนียมกินเปล่าไปก่อนแล้ว… การประกาศใช้กฏหมาย Bitcoin จึงอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมการเงินข้ามชาติได้เอง และ สะดวกมากขึ้นจนทำให้ร้านขายของชำก็รับบิทคอยน์ และ รับแลกเงินได้
อย่างไรก็ตาม… แม้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลจะโหวตผ่านร่างกฏหมายไปอย่างเรียบร้อยในวันที่ 8 มิถุนายน ปี 2021 ที่ผ่านมา… แต่ก็มีเสียงคัดค้านในสภาจากพรรคฝ่ายค้าน และ ความคิดเห็นนอกสภาที่เห็นแย้งไม่น้อย… โดยเหตุผลหลักๆ ก็เป็นเรื่องความผันผวนของ Bitcoin ซึ่งเป็นมุมมองแบบนักลงทุน แต่เอามาอธิบายภาพการใช้งานในกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา… ซึ่งเป็นมุมมองขัดแย้งที่มีเหมือนกันทั่วโลก
ประเด็นก็คือ… แรงงานต่างแดนชาวเอลซัลวาดอร์ จะโอนเงินดอลลาร์ หรือ โอนบิทคอยน์กลับไปให้ครอบครัวในเอลซัลวาดอร์นั้น ในทางเทคนิคไม่ได้มีอะไรต่างกัน เพราะเอลซัลวาดอร์ในปัจจุบันใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักแทนสกุลเงินประจำชาติอยู่แล้ว การโอนเป็นบิทคอยน์ที่กฏหมายรับรองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากแรงงานข้ามชาติชาวเอลซัลวาดอร์นอกสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็น USD หรือ ดอลลาร์สหรัฐ และ การใช้งาน Bitcoin Payment ได้เลยโดยไม่ต้องแลกเป็นธนบัตรดอลลาร์อีก… ส่วนการโอนบิทคอยน์ในกลไกชำระราคา ยังไงๆ ก็โอนเทียบอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่างจากเงินสกุลไหนๆ ในโลก ซึ่งก็ผันผวนและมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จนต้องใช้เทคนิคการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ FX Hedging สารพัดรูปแบบอยู่แล้วในปัจจุบัน… โดยเฉพาะธุรกิจนำเข้าส่งออกทั่วโลก ยังไงๆ ก็ต้องทำ FX Hedging หรือ Foreign Exchange Hedge ป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น
โดยส่วนตัวจึงมองการคัดค้านเพราะเหตุผลเรื่องความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องไร้สาระแบบอธิบายความจริงครึ่งเดียวมากกว่า แม้ Bitcoin และ Cryptocurrencies จะผันผวนสูง… ก็ไม่ใช่ว่าจะสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้… ซึ่งการทำให้ Bitcoin ถูกกฏหมายก่อนนี่เอง ที่จะทำให้การพัฒนาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ถูกสร้างใช้อย่างชัดเจน และ จะกลายเป็นกลไกการเงินการธาคารใหม่ ทดแทนระบบเดิมที่เอาเปรียบและไม่มีทางเลือกให้ใครมานาน
นอกจากนั้น… Bitcoin มูลค่ากว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ คริปโตมูลค่ารวมทั้งระบบกว่า 1.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ก็น่าจะไม่พลาดที่จะสถาปนาให้เอลซัลวาดอร์เป็นศูนย์กลางของคริปโตไปก่อน… เว้นแต่ประเทศอื่นๆ จะรีบเร่งเปิดทางให้คริปโตถูกกฏหมายบ้าง และ ดันให้เกิด Central Bank Digital Currencies หรือ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเข้าไปเชื่อม เพื่อดูดซับเอาความมั่งคั่งของโลกคริปโตเข้าสู่กลไกทางเศรษฐกิจ… เพียงแต่กลไกการจัดการทางการเงินการคลังของประเทศนั้นๆ จะต้องฉลาดเพียงพอที่จะจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม… ถ้าคิดว่าฉลาดไม่พอ และ เชื่อข้อมูลครึ่งเดียวโดยไม่เรียนรู้อะไรอีก… ก็อยู่กันไปแบบเดิมๆ
กรณีบิทคอยน์ที่เอลซัลวาดอร์คราวนี้… ได้ข่าวว่า IMF หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศเดือดร้อนกันมาก ถึงขั้นแถลงข่าวตักเตือนเอลซัลวาดอร์กันเลยทีเดียว… ดูอาการของ IMF แล้ว ผมคิดว่าเอลซัลวาดอร์มาถูกทาง และ คงมีอีกหลายประเทศชิงเปิดบ้านรับบิทคอยน์เพิ่มอีกจนคำเตือน และ คำขู่จาก IMF หมดราคาค่อนข้างแน่
อิจฉาน๊ะ… เอลซัลวาดอร์!!!
References…