พูดถึงปรมาจารย์ด้านการบริหาร ชื่อแรกที่หลายๆ ท่านนึกออก รวมทั้งผมด้วยคงจะเป็น… ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ หรือ Peter Drucker… บิดาของการบริหารสมัยใหม่ ผู้กลายเป็นตำนานจากหลักการ ข้อคิดและเทคนิคมากมายที่ชายคนนี้สร้างไว้ให้โลก… Peter Ducker เขียนหนังสือเกี่ยวการบริหาร เผยแพร่มากกว่า 30 เล่ม และทุกเล่มล้วนมีประเด็นสำคัญ ที่นักบริหารทั่วโลกต้องอ่าน… และยังมีงานตีพิมพ์เผยแพร่บทความทางวิชาการอีกมากมายตลอดชีวิตการทำงาน
หนังสือชื่อ The Concept of The Corporation ถูกพิมพ์เผยแพร่ในปี 1946 ซึ่งเป็นตำราการบริหารเพียงไม่กี่เล่มที่มีใช้ในยุคนั้น และพา Peter Drucker โด่งดังและได้รับการยอมรับมากมาย… และ Peter F. Drucker ก็ผลิตผลงานทางวิชาการจนถึงปี 2004… บทความฉบับสุดท้ายเรื่อง What Make an Effective Executives ซึ่งชนะรางวัล McKinsey Awards ในปีเดียวกัน… ก่อนที่ Drucker จะจากไปในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2005

Peter F. Drucker ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิดที่บุกเบิกแนวคิดด้านการบริหารจัดการขององค์กรธุรกิจสมัยใหม่… มีแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการองค์กรที่แตกต่างอย่างมาก จากนักคิดด้านการบริหารรุ่นเดียวกัน ซึ่งการนำเสนอแนวคิดการบริหารธุรกิจของ Drucker จะมีหลักวิชาการรองรับ และมีวิธีคิดที่เป็นระบบแบบแผน ซึ่งโดดเด่นอย่างมากในการอธิบายและเชื่อมโยงนิเวศวิทยาสังคมที่สลับซับซ้อน… และถอดแนวคิดเป็นทั้งทฤษฎี และ แนวปฏิบัติที่นำไปใช้ได้จริงจนเกิดมรรคผลมากมายจากนักบริหารทั่วโลก
งานเขียนของ Drucker ได้ทำนายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ หรือช่วงปี 1980-1999… มีประเด็นอย่างการกระจายอำนาจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พลังทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ความสำคัญของการตลาดและนวัตกรรม รวมทั้งการเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร และความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning
ปี 1959 Drucker ได้ให้ความสำคัญต่อ “องค์ความรู้ในแรงงาน หรือ Knowledge Worker” และช่วงปลายชีวิต Drucker ยังได้พูดถึง “Knowledge-worker Productivity หรือ ผลผลิตจากองค์ความรู้ในแรงงาน” ซึ่ง Drucker ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่าจะเป็นฐานการจัดการยุคหน้า
ย้อนกลับไปปี 1939… Drucker ออกหนังสือเล่มแรกชื่อ The End of Economic Man: The Origins of Totalitarianism ซึ่งถือเป็นหนังสือที่ขายแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม ที่มุ่งมั่นให้โลกเสรีเข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสต์… วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษชอบอ่านหนังสือเล่มนี้มาก และได้บังคับให้ข้าราชการอังกฤษบรรจุใหม่ทุกคนต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
Peter Ferdinand Drucker หรือ Peter F. Drucker เกิดวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 1909 ที่เขต Kaasgraben ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย… บิดาของเขา Adolf Drucker เป็นนักกฏหมาย… Caroline Bondi มารดาของเขาเป็นนักเรียนแพทย์ ในช่วงที่ Peter Ducker เติบโต… นั่นทำให้ Peter Drucker เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดอ่อนกับพิธีการอย่างเป็นทางการแบบนักกฏหมาย และการพูดคุยถกเถียงที่เป็นวิทยาศาสตร์ จนได้แนวคิดใหม่ๆ และหลากหลายแบบแพทย์
เล่ากันมาว่า ช่วงเริ่มงานวัยหนุ่มในเยอรมัน… Peter Drucker ได้สัมภาษณ์ Adolf Hitler ในฐานะผู้เขียนหนังสือ Mein Kampf หรือ ไมน์คัมพฟ์ หรือการต่อสู้ของข้าพเจ้า… ซึ่งเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของฮิตเลอร์ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปี 1925 และ ครั้งที่ 2 ในปี 1926 โดยฮิตเลอร์ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ ขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุก ในฐานะอาชญกรทางการเมือง จากการปฏิวัติที่ล้มเหลวในมิวนิก เมื่อพฤศจิกายน ปี 1923
ปี 1933… Drucker ย้ายมาทำงานในธุรกิจประกันภัยที่อังกฤษ… ก่อนจะแต่งงานกับ Doris Schmitz… อาจารย์จาก University of Frankfurt ในปี 1934 และย้ายครอบครัวไปอเมริกา
ปี 1943… Drucker จึงได้สัญชาติอเมริกัน ซึ่ง Drucker ทำงานสอนเรื่อยมากระทั่งได้เป็น ศาสตราจารย์ด้านบริหารที่ New York University ปี 1950 จนถึงปี 1971… จึงย้ายมาแคลิฟอร์เนีย และเปิดหลักสูตร Executive MBA Programs ที่ Claremont Graduate University… และอยู่เป็นเสาหลักที่ Claremont ในคณะ Social Science and Management จนสิ้นอายุขัย… ซึ่ง Claremont Graduate University ได้สร้างวิทยาลัยการจัดการขึ้นใหม่จากคณะ Social Science and Management ในปี 1987 โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Peter F. Drucker ว่า… The Peter F. Drucker Graduate School of Management
ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดในฝั่งธุรกิจของ Peter F. Drucker… ซึ่งเป็นอาจารย์สอนบริหารธุรกิจที่ได้ทำงานกับเอกชนอย่าง GM Motor ตามคำเชิญของ Donaldson Brown ในปี 1942… และได้รับโอกาสให้เข้าร่วมสังเกตุการณ์กิจการภายในของ GM ตั้งแต่การประชุมกรรมการบริษัท การสัมภาษณ์พนักงาน วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งขั้นตอนการตัดสินใจต่างๆ ในองค์กร… และคนใน GM เชื่อว่า องค์ความรู้จาก Drucker พา GM กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาและของโลกในช่วงนั้น ก่อนจะถูก Toyota เขี่ยตกอันดับในช่วงปลายศตวรรษที 20 ตามคำทำนายของ Drucker
ที่ GM Motor นี่เองที่ Peter F. Drucker คลอดหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Concept of the Corporation จนกลายเป็นตำราคลาสสิกเล่มหนึ่งที่ยังมีคนอ่านและใช้อ้างอิงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ความยิ่งใหญ่ของแนวคิดและองค์ความรู้จาก Peter Drucker ในแวดวงการจัดการนั้น… มีมากมายที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้จริงจังจึงจะบอกเล่าและรับรู้ได้หมด… คำอย่าง Decentralized และ Outsourcing ที่เสนอให้บริหารแบบกระจายศูนย์แทนการจัดการแบบรวมศูนย์ หรือ Command and Control… แนวคิดการจัดการเรื่อง Non-Government Organizations หรือ NGOs… แนวคิดเรื่อง Human Resource ที่มองพนักงานหรือแรงงานเป็นทรัพยากร มากกว่าจะเป็นแรงงานในเรือนเบี้ย… อธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือ Macroeconomics แบบใหม่… อธิบายเศรษฐศาสตร์จุลภาค หรือ Microeconomics ผ่านกลไกราคา… นำแนวคิด Management by Objectives มาเผยแพร่… รวมทั้งคำเท่ห์ๆ ที่องค์กรในปัจจุบันกำลังตื่นตัวกันเกี่ยวกับ Sustainability ก็มาจากปรมาจารย์ด้านสังคมวิทยาและการจัดการท่านนี้… Peter F. Drucker และยังมีที่ไม่ได้พูดถึงอีกมาก
สำหรับผม… โดดเด่นที่สุดของคมความคิดจาก Peter Drucker ที่เห็นเอ่ยอ้างอิงอย่างมากมายคงจะเป็นเรื่อง “ประสิทธิภาพ กับ ประสิทธิผล หรือ Efficiency/Effectiveness” ซึ่งห้องสัมมนาเอย ห้องฝึกอบรมเอย… บทความ และงานเขียนมากมายต้องนำคำกล่าวอมตะของ Peter Drucker มาใช้ทั้งสิ้น… ประโยคที่ว่าก็คือ Efficiency is Doing Things Right, Effectiveness is Doing the Right Things… ประสิทธิภาพคือการทำทุกสิ่งให้ถูก, ประสิทธิผลคือการทำสิ่งที่ถูก
ความสับสนของคำว่าประสิทธิภาพ กับ ประสิทธิผล… ซึ่งมองคล้ายกัน ทั้งที่แตกต่าง โดย “ประสิทธิภาพ หรือ Efficiency” จะมีองค์ประกอบ หรือ ขบวนการหลายอย่างรวมกันอยู่เป็นโครงสร้างที่ต้องสอดประสานผลงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการวัดประสิทธิภาพจะมองการทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง คุ้มค่า คุ้มเวลา สูญเสียน้อยกับทุกๆ กลไกในโครงสร้าง… ในขณะที่ “ประสิทธิผล หรือ Effectiveness” จะเป็นประเด็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หรือ ผลงานสมบูรณ์เรียบร้อยนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้
สมมุติตัวอย่างหยาบๆ ว่า… เอ กับ บี ปั้นขนมเปี๊ยะไส้ถัวไข่เค็มเหมือนกัน… เอ ทำได้ 100 ชิ้นต่อชั่วโมง ทำแป้งแตกไส้รั่ว 10 ชิ้น… บี ทำได้ 80 ชิ้นต่อชั่วโมง ไม่มีชิ้นไหนเสียเลย… ถ้าวัดประสิทธิภาพ ที่ต้อง “Doing Things Right” แสดงว่า บี ปั้นขนมเปี๊ยะได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เอ เพราะทำแล้วไม่มีของเสียเลย… แต่ถ้านับผลงาน หรือประสิทธิผล จะเห็นว่า เอ ปั้นขนมเปี๊ยะได้ถึง 90 ชิ้นต่อชั่วโมงเมื่อหักที่ทำไส้แตกออกแล้ว ซึ่งก็มีผลสำเร็จมากกว่า บี อยู่ดี
จากตัวอย่าง… การวิเคราะห์ประสิทธิภาพ กับ ประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องที่นักบริหารต้องเข้าใจลึกซึ้งในงานที่ตนเองกำลังบริหารจัดการอยู่… ซึ่งคนที่เข้าใจสมดุล Efficiency/Effectiveness มักจะบริหารผลผลิตและเป้าหมายองค์กรได้แม่นยำกว่ามาก
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ
อ้างอิง