รายงานตัวเลข FAO Food Prices Index… โดยเฉพาะตัวเลข Index 1 หรือ ค่าเฉลี่ยจากราคาอาหาร 5 ชนิดคือ เนื้อสัตว์ นม ซีเรียล น้ำมันพืช และ น้ำตาล… ของเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12… ซึ่งถือเป็นสัญญาณเงินเฟ้อที่ชัดขึ้นถึงระดับที่ต้องใส่ใจพิจารณาสัญญาณอื่นๆ ในชีพจรเศรษฐกิจกันแล้ว… ยิ่งแนวโน้มในสถานการณ์วิกฤตโควิด มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก และกระทบจากมหภาคไปจนถึงรากหญ้า… ถึงแม้ทุกประเทศจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าพยุงเศรษฐกิจเหมือนกันหมด… แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า “ของฟรีไม่มีอยู่จริง” อันหมายถึง… ค่าใช้จ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ Stimulus Package ที่เกิดขึ้นทั่วโลก… ย่อมก่อผลข้างเคียงที่ต้องร่วมกันชดใช้ไปอีกพักใหญ่
ผมเขียนบทความตอนนี้ขึ้นไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวหาติเตียนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ แม้แต่วิพากวิจารณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่ได้เชี่ยวชาญ และ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์หลักๆ ยังไม่เป็นด้วยซ้ำ… แต่กรณีดัชนีราคาอาหาร หรือ Food Prices Index ที่สื่อใหญ่ทั่วโลกเล่นเป็นข่าวเศรษฐกิจสำคัญ ถือเป็นข้อมูลที่ต่างออกไป… เพราะของถูกของแพงก็ตรงไปตรงมาตามนั้น โดยเฉพาะของกินแพงๆ ที่ของเท่าเดิมแต่ราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากสรุปไว้ก่อนว่า “เงินเฟ้อมาตามนัดแน่นอน”
ประเด็นของแพงของถูกโดยพื้นฐานจะเป็นเรื่อง “ความสามารถในการซื้อ” ของคน… ในกรณีดัชนีราคาอาหารพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น และ กระทบคนส่วนใหญ่ซึ่ง “รู้ๆ กันว่าสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยทั่วโลก” มีมากเกิน 90% ของประชากร… ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกรณีราคาอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมา 12 เดือนจึงสรุปได้ไม่ยากว่า “อาหารแพงขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่”
ความจริง… ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแพงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีบวกเพิ่มทุกปีอยู่ในกลไกทางเศรษฐกิจเหมือนๆ กันหมดทั่วโลก ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ตั้งกันขึ้นเพื่อดูแล “สมดุลทางเศรษฐกิจ” ซึ่งทั้งหมด จะกลับไปที่รายได้กับรายจ่าย… ของผู้คนอ้างอิงหลักการพื้นฐานในกลไกเศรษฐกิจทุนนิยม
ประเด็นก็คือ… ถ้ารายได้พอกับรายจ่าย หรือ มากกว่ารายจ่าย และ เติบโตเพิ่มขึ้นตามไปกับอัตราเงินเฟ้ออย่างสมดุลก็ไม่มีอะไรน่ากังวล… ประเด็นรายได้เติบโตตามรายจ่ายไม่ทัน ซึ่งก็คือ “ปัญหาความยากจน” ทั่วโลกซึ่งมักจะมีฐานมาจาก 2 เรื่องใหญ่คือ การศึกษา กับ โอกาส… โดยการศึกษาจะพัฒนาความสามารถของคน และ เพิ่มโอกาสใหม่ๆ อันส่งผลถึง “รายได้ และ การยกระดับทางเศรษฐกิจ” โดยตรง
กรณีของการศึกษา… อดีตนายกรัฐมนตรี Tony Blair ของอังกฤษเคยบอกไว้ชัดเจนว่า… Education Is The Best Economic Policy There Is หรือ การศึกษาคือนโยบายทางเศรษฐกิจอันยอดเยี่ยมที่ต้องมี… ซึ่งการศึกษาเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้สร้างโอกาสในทุกมิติ… โดยเฉพาะโอกาสของบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค
Tony Blair เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษติดต่อกันถึง 3 สมัยรวม 10 ปี ตั้งแต่ปี 1997–2007… และเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน หรือ Labour Party ซึ่งไม่บ่อยที่จะได้ปกครองประเทศอังกฤษ… การขึ้นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษของ Tony Blair ตลอดสิบปีถือเป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ของอังกฤษยุคใหม่ช่วงหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เป็นที่ชื่นชอบในสายตา และ ทัศนคติของสมาชิกพรรคแรงงานสายสังคมนิยม ซึ่งกล่าวหา Tony Blair ว่าทอดทิ้งแรงงานที่เป็นฐานเสียง และ แรงหนุนสร้างนายกรัฐมนตรีคนนี้มา โดยมีประเด็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมการตลาด และ ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะการให้อำนาจ Bank of England หรือ ธนาคารชาติอังกฤษ ดำเนินนโยบายทางการเงินอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภา… และใช้ที่ปรึกษาเป็นนักธุรกิจและนักลงทุนมากมายในการทำงาน จนนักวิชาการสายสังคมนิยมซึ่งอิงอยู่กับแรงงาน เรียกความเคลื่อนไหวของ Tony Blair ว่าเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ หรือ Neo-Liberalism
แต่รอยด่างในชีวิตการทำงานของ Tony Blair จริงๆ คือกรณีการยืนข้างสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผยในสงครามอิรัก และยืนเคียงไหล่แถลงข่าวร่วมกับ George W. Bush ในหลายวาระ รวมทั้งการเดินทางเยี่ยมทหารในอิรักอย่างเปิดเผย
27 มิถุนายน ปี 2007… Tony Blair ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ด้วยวัยเพียง 40 ปี โดยก่อนหน้านั้นเขากลับไปพบฐานเสียงรุ่นแรกในเมือง Sedgefield ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลอนดอน เพื่ออำลาชีวิตการเมืองกับคนที่นั่น…
งานตีพิมพ์เรื่อง Education Policy, 1997-2000: the effects on top, bottom and middle England โดย Emeritus Professor Sally Tomlinson จาก University of Oxford ได้วิเคราะห์การปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Tony Blair อย่างน่าสนใจ… ซึ่งเอกสารชุดนี้เป็นเอกสารอ้างอิงหลักชิ้นหนึ่งของคณะทำงานปฏิรูปการศึกษาของไทย ช่วงปี พ.ศ. 2542-2544 หรือ ปี ค.ศ. 1999-2001 จนคณะทำงานหลายชุดต้องเบิกงบไปดูงานกันถึงอังกฤษอย่างสนุกสนาน… แต่ทั้งหมดก็เก่าและจบไปนานแล้วทั้งการศึกษาอังกฤษ และ การศึกษาไทยที่เคลื่อนไหวปฏิรูปกันคราวนั้น
จะเหลือก็แต่… การศึกษาหลังยุคโควิด ที่ข้อมูลและความเคลื่อนไหวเท่าที่ได้เห็น ได้ยิน และ ได้ข้อมูลจากแหล่งเชื่อถือได้ ในหลายๆ แง่มุม ซึ่งผมคิดว่า… ก็คงหวังอะไรไม่ได้มาก นอกจากเราทำใจเย็นๆ รอให้ “เวลา” ทำอะไรๆ กับคนรุ่นที่พูดถึงปฏิรูป แต่ “ไม่ตัดสินใจ” เปลี่ยนอะไรเพื่อใครให้ตัวเองลำบาก… ถูกความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกทำให้พวกเขาลำบากจนขอเกษียณไปเองดีกว่า
และอย่าลืมเตรียมตัวรับมือกับเงินเฟ้อเอาไว้ด้วยครับ… โดยเฉพาะท่านที่มือลั่นคลิกของลงตะกร้าออนไลน์แก้เครียดบ่อยๆ
References…