ในอินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดียทุกแพลตฟอร์มในทุกๆ ภาษาทั่วโลก… ปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้เหมือนๆ กันหมดก็คือข้อมูลเท็จ และ ข้อมูลบิดเบือน รวมทั้งข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนโดยละลืม หรือ เจตนาปกปิดอีกบางส่วน ซึ่งบ่อยครั้งสร้างความเสียหายให้ผู้คนที่นำใช้ข้อมูลเท็จ และ ข้อมูลที่บกพร่องและพิการข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อมูลพิการในตลาดทุน และ ในหมู่นักลงทุนอันเป็นศาสตร์มืดของโลกการลงทุนมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่ยุค “ข่าวลือในห้องค้า และ ความเห็นมาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งนักลงทุนเจ้าเล่ห์ยุคเก่าใช้เป็นเครื่องมือปั่นหุ้นอย่างได้ผลแทบจะทุกครั้ง… และปัจจุบันได้พัฒนาไปเป็นข่าวลือ และ ข้อมูลพิการบนโซเชี่ยลมีเดียที่ลามเร็ว และ กระทบกว้างกว่าเดิมมาก
คำแนะนำเรื่องการใช้ข่าว และ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในปัจจุบันจึงแนะนำให้ Do Your Own Research หรือ DYOR เพื่อบอกให้นักลงทุนใช้ความคิดเห็นส่วนตัวจากการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเองในการตัดสินใจเป็นหลัก โดยให้ข่าวสารและข้อมูลจากแหล่งต่าง รวมทั้งความเห็นของนักวิเคราะห์ทุกที่มาและประสบการณ์… เป็นเพียงข้อมูลดิบที่นักลงทุนต้องนำมาวิเคราะห์เป็นข้อสรุปของตัวเอง และ ตัดสินใจบนข้อสรุปของตัวเองเท่านั้น
ยิ่งในวันที่ตลาดคริปโตเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปพร้อมๆ กับความปั่นป่วนผันผวนมาตั้งแต่บิตคอยน์กลายเป็นสินทรัพย์ทรงอิทธิพลในตลาดทุน… คำแนะนำเรื่อง DYOR จึงยิ่งสำคัญในวันที่ “โปรเจคคริปโต” มากมายต่างก็ออกเหรียญ และหรือ โทเคนมาระดมทุนกันจนเกร่อ และ ต่างก็จัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้นักลงทุนถูกโน้มน้าวจนยอมลงทุนกับโครงการเหล่านั้นโดยไม่ใส่ใจข้อมูลแวดล้อมอย่างรอบคอบ… และแม้แต่หลายกรณีที่รอบคอบ ก็อาจจะถูกตบตาด้วยข้อมูลลวงในแบบที่เรียกว่า Sybil Attacks ซึ่งเป็นการใช้บัญชีปลอมในโซเชี่ยลมีเดียเพื่อสร้างกระแสโปรโมทคริปโต… Sybil Attacks จึงเป็นหลุมพรางลวงล่อด้วยข้อมูลข่าวสารทางโซเชี่ยลมีเดียที่นักลงทุนทั้งในตลาดคริปโต และ ในตลาดทุนทุกแบบในปัจจุบันต้องระมัดระวัง และ ต้องขุดข้อมูลให้ลึกมากพอก่อนการตัดสินใจ
Sybil Attacks เป็นศัพท์ในวงการแฮกเกอร์ที่ตั้งชื่อตาม Sybil Isabel Dorsett ซึ่งเป็นชื่อปลอมของ Shirley Ardell Mason ผู้เป็นโรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder ซึ่ง Sybil Dorsett มีบุคลิกมากถึง 16 ตัวตนจนกลายเป็นกรณีศึกษาที่ลือลั่นถึงขั้นมีคนเอาไปสร้างหนัง… Sybil Attacks จึงเป็นการสร้างตัวตนปลอมบนอินเตอร์เน็ต และ โซเชี่ยลมีเดียเพื่อเพิ่มจำนวนคนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อตีฟูโครงการโปรโมทคริปโตเพื่อตบตานักลงทุนอีกที เพื่อให้เห็นว่ามีชุมชนที่คึกคัก และ อุ่นหนาฝาคั่งได้น่าเชื่อถือ
การประเมินความเสี่ยง และ การตัดสินใจในโลกคริปโตจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้อง “ศึกษาด้วยตัวเอง” โดยใช้แนวทาง DYOR และ ประสบการณ์ในการวิเคราะห์แยกแยะของตัวเองเป็นหลัก… ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และ หลีกเลี่ยงที่จะให้ความเชื่อมั่นกับข้อมูลฟรี และ ข้อมูลประชาสัมพันธ์ซึ่งในปัจจุบันมีคนทำคอนเทนต์ดึงดูดนักลงทุนเพื่อโน้มน้าวเชิญชวนทั้งทางตรงและทางอ้อมเยอะมาก… Do Your Own Research เท่านั้นครับ!
References…