กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือน มิถุนายน โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน
คุณสุรพงษ์ สารปะ ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความเห็นว่า… ปริมาณฝนน้อยใกล้เคียงกับปี 2522 แต่ปริมาณความต้องการการใช้น้ำปีนี้มากกว่าในอดีต จากข้อมูลขณะนี้สถานการณ์การใช้น้ำและผลกระทบรุนแรงกว่าปี 2558 แล้ว… บางพื้นที่แล้งมาตั้งแต่ปลายเดือน พฤษจิกายน ปีที่แล้ว หรือช่วงสิ้นฤดูฝน ประเมินว่าน้ำในเขื่อนหลักที่ส่งเข้ามายังเจ้าพระยาต่ำกว่าปกติ
หน่วยงานด้านน้ำ ได้แก่ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง ประชุมร่วมกันวันนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อวางมาตรการรับมือก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รับมือวิกฤตน้ำแล้ง… ปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม คือ ปัญหาความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่ง กระทบต่อการผลิตน้ำประปาของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และปัญหาน้ำแล้งในหลายภูมิภาค
ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศว่ามีอยู่ร้อยละ 60 รวม 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การร้อยละ 43 โดยเป็นแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล
สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ… ส่วนคุณภาพน้ำ ค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการอุปโภคบริโภค บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ภาวะภัยแล้งที่กำลังจะเกิดในปี 2563 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี และในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา… สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการวิกฤตน้ำแล้ง โดยเตรียมเสนอตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และหากวิกฤตรุนแรงมากขึ้น จึงจะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ
ปัญหาน้ำเค็มรุกที่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ทำให้บางจุดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล น้ำประปามีรสกร่อย กรมชลประทานได้เร่งบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเจือจางและผลักดันน้ำเค็ม
เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา… การประปานครหลวง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำประปาในระบบของพื้นที่ กรุงเทพมหานครกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ความรุนแรงของสถานการณ์น้ำเค็มลดน้อยลงกว่าช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยช่วงที่ค่าความเค็มหนักที่สุดคือวันที่ 28 ธันวาคมปีที่แล้ว จากนี้คาดว่า ก่อนถึงช่วงเดือนพฤษภาคมแนวโน้มความรุนแรงของน้ำทะเลหนุนจะลดลง
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง… สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติรายงานว่า มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดในปี 2535 และต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ระดับน้ำแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย เลย นครพนม และมุกดาหาร มีแนวโน้มลดลง ส่วน จังหวัดหนองคาย และอุบลราชธานี มีแนวโน้มทรงตัว
เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมว่าได้รับแจ้งจากจีนว่าจะมีการลดการระบายน้ำจากเขื่อนในจีนลงครึ่งหนึ่งจาก 1,200-1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงราว 30-60 เซนติเมตร หรืออาจจะมากกว่าเมื่อผ่านเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งใกล้กับแม่น้ำโขงในไทยที่ จังหวัดเลย
ทั้งหมดเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำที่หลายฝ่ายเชื่อว่า… จะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและภาคเกษตรกรรม ที่อาจจะเป็นต้นทางของห่วงโซ่สถานการณ์หลายอย่างที่ต้องจับตา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภัยแล้งในปี 2563 น่าจะสร้างความเสียหายทำให้ผลผลิตลดลงอยู่ในกรอบร้อยละ 4.0-6.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน… มีผลทำให้ราคาพืชเกษตรในช่วงฤดูแล้งปรับเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2-11.4… มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3-5.4… และอ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0-29.7… แต่ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0… โดยเป็นผลจากแรงฉุดด้านปริมาณผลผลิตเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงที่เกิดภัยแล้งในฤดูกาลจะช่วยดันราคาในประเทศให้สูงขึ้นได้ แต่หากพิจารณาในด้านการส่งออก อาจต้องประสบปัญหาการขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางภาวะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ก็อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ให้ภาพที่ไม่ดีนัก
มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหาย ของข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อยเป็นหลัก อีกทั้งยังมองว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 น่าจะวิกฤติมากกว่าปี 2562 และน่าจะวิกฤติมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีอีกด้วย
ข้อมูลคร่าวๆ ก็ประมาณนี้ครับ… ประเด็นก็คือว่า ภาคเกษตรบ้านเราพึ่งพาน้ำปริมาณมหาศาลในการทำการเกษตร และหลายท่านที่ผมรู้จักกำลังมองหาโมเดลการเกษตรเพื่อหนีภาษีที่ดิน ซึ่งผมเรียนทุกท่านไว้ตรงนี้ว่า… การหันหาโมเดลการเกษตรแบบลงทุนจริงและทำแบบมือสมัครเล่นหวังเลี่ยงภาษีเป็นหลัก… กรุณารอบคอบให้มากๆ หากไม่อยากจ่ายแพงกว่าการเสียภาษี เพราะตัวแปรหลายอย่างในภาคเกษตรกรรม… ไม่ได้ง่ายที่จะควบคุมหรอกน๊ะครับ!!!