สัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับเพื่อนเก่าสายงานก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งท่านให้เกียรติขอคำแนะนำเรื่องการใช้ Drone ในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งท่านก็มี Pain Point หลายประเด็นที่ผมขออนุญาตปกปิดรายละเอียดส่วนของท่านไป… ซึ่งกรณีการใช้โดรนในอุตสาหกรรมก่อสร้างปัจจุบันถือว่ากำลังเป็นเทรนด์ หรือแนวโน้มสำคัญกระแสหนึ่งอยู่แล้ว
วันนี้ก็เลยจะเอาเรื่องโดรนในกิจการก่อสร้างและพัฒนาที่ดินมาแนะนำประโยชน์ ในบางแง่มุมของการประยุกต์ใช้งานครับ…
1. ใช้โดรนในงานสำรวจรังวัด
ในงานสำรวจเชิงตรวจสอบ… หลายครั้งต้องเดินวนหรือถึงขั้นนั่งรถวนจนหลายคนขอนั่งรอดีกว่า การใช้โดรนบินถ่ายภาพภาพจริงหลายกรณีมีประโยชน์อย่างมากในการสำรจที่ดิน หรือแม้กระทั่งงานรังวัดที่ปกติช่างรังวัดต้องส่องกล้องเล็งแนวทำงานประสานกันเป็นทีม การใช้โดรนพร้อมเครื่องมือรังวัดบินช่วยงานสำรวจรังวัด กำลังได้รับความสนใจและพัฒนารูปแบบการทำงานและพัฒนาซอฟท์แวร์ถึงขั้นสร้างแผนที่ 3D จนหลายคนเชื่อว่า… โดรนกับเครื่องมือรังวัดแบบใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้ว จะมาแทนช่างรังวัดเดินเท้า ที่ต้องหันมาฝึกบินโดรนแทน
2. ใช้ในงานติดตามความก้าวหน้าในไซต์ก่อสร้าง
หลายครั้งที่ผู้จัดการไซต์ก่อสร้าง หรือวิศวกรโครงการต้องเชื่อรายงานความก้าวหน้าจากโฟร์แมน หรือช่างบางคน จนหลายครั้งความผิดพลาดเกิดจนย้อนกลับไปแก้ไขได้ยาก ถึงขึ้นสร้างความเสียหายก็มี… การบินโดรนตรวจงานอาจจะไม่ละเอียดเท่าเดินตรวจ แต่ก็ใช้เวลาและพลังงานน้อยกว่ามากในงานตรวจสอบทั่วไป และโฟกัสเฉพาะจุดที่มีปัญหา… หลายโครงการเริ่มให้มีการบินบันทึกภาพมุมสูงรายวัน ร่วมกับกล้องวงจรปิดเพื่อหลายๆ วัตถุประสงค์ ที่ผู้บริหารโครงการหลายๆ ฝ่าย จะได้มีตาแม้ไม่มีเวลามาตรวจงานก่อนตัดสินใจ
3. ช่วยงานสื่อสารและการจัดการ
ยุคของการทำ Remote Working มาถึงแล้วอย่างชัดเจน การวางมาตรฐานการตรวจงานและตัดสินใจผ่านภาพถ่ายหลายๆ มุม โดยเฉพาะภาพถ่ายจากโดรนที่สามารถบินถ่ายภาพในมุมที่กล้องวงจรปิดหรือกล้องมือถือถ่ายให้ไม่ได้ และตัดสินใจทางการจัดการ หรือตัดสินใจทางวิศวกรรมอย่างการปรับแก้แบบผ่าน BIM 360 หรือ BIM Cloud แบบไหนก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ และเวลาไหนก็ได้
4. ช่วยเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย
ในโครงการก่อสร้างน้อยใหญ่ ไซต์ก่อสร้างจะมีป้ายเรื่องความปลอดภัย ติดเตือนไว้ตามจุดสำคัญๆ มากมายตั้งแต่ทางเข้า แต่ในไซต์ก่อสร้างก็มีอุบัติเหตุให้พบเห็นทุกที่ การบินโดรนตรวจตราความเรียบร้อยด้านความปลอดภัยในไซต์งาน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ “ผ่อนแรงพยายาม” ของการตรวจตราได้ถี่ถ้วนขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
5. ใช้ช่วยงานสอบเทียบเชิงวิศวกรรม
โดยการบินโดรนติดตั้งอุปกรณ์การวัดและสอบเทียบทางวิศวกรรมแบบต่างๆ ตั้งแต่การวัดทั่วไป จนถึงการวัดทางรังสีหรือคลื่นโซนาร์ รวมถึงการถ่ายภาพและการจำลองแบบสามมิติร่วมกับ AR/VR/MR จากมุมหรือตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึงได้ด้วย



คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนครับ… ส่วนท่านที่มีแนวทางเด็ดๆ ในการใช้โดรนอยากแบ่งปัน หรืออยากให้ทาง Properea ช่วยประชาสัมพันธ์งานประยุกต์ใช้โดรนในไซต์ก่อสร้างของท่าน… ก็ยินดีมากครับ Line: @properea ทักเข้ามาได้ตลอดเวลาครับ
อ้างอิง