ยุคสมัยของการ “กินร้อนช้อนกู” ที่งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม ก้าวสู่ยุค Total Personalized Dishes หรือกินของใครของมัน ซึ่งงานบริการอาหารจำเป็นต้องยกระดับ “แนวปฏิบัติ” ด้านสุขอนามัยให้ถี่ถ้วนขึ้นไปอีกขั้น
ความจริง… มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยในอุตสาหกรรมอาหารอย่าง ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร หรือ HACCP หรือ Hazard Analysis and Critical Point System ตามมาตรฐาน ISO 22000 ก็มีให้ปฏิบัติและอ้างอิงอยู่… รวมทั้ง แนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยที่ใช้กันอยู่ในหน่วยโภชนาการของโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีข้อมูลเผยแพร่ให้เรียนรู้ว่า ส่วนไหนต้องปฏิบัติอย่างไร
อย่างที่ทราบกัน… ธุรกิจร้านอาหารแต่ไหนแต่ไรมา ถือเป็นธุรกิจที่พึ่งธรรมชาติความเป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคมของมนุษย์ที่เป็นลูกค้า โดยมีวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกัน ช่วยสร้างและเชื่อมสายสัมพันธ์ โดยมีอาหารเป็นกิจกรรมสร้างเสริมสัมพันธภาพ… แนวทางการสร้างบรรยากาศเพื่อสร้างมิตรภาพและสัมพันธภาพด้วยอาหารและเครื่องดื่ม จึงเป็นแนวทางสากล
ประเด็นคือ… Restaurant Services Procedure ในวันที่ต้องบริหารความกังวลเรื่องสุขอนามัยของลูกค้าและผู้รับบริการ ที่ต้องโฟกัส หรือให้ความสำคัญอย่างเด่นชัดจนเชื่อมั่นได้ และนำธุรกิจกลับสู่ระบบนิเวศน์ให้สังคมได้ดีกว่าเดิม คือโจทย์สำคัญของธุรกิจ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า ธุรกิจอาหารควรแบ่ง Procedure หรือแนวปฏิบัติ ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คืองานภายในและงานบริการลูกค้า
บทความจาก FoodQualityandSafety.com หัวข้อ What to Know about Disinfecting and Sanitizing in Food Service โดย Mike Watt พูดถึง “โรงครัว” ของธุรกิจ Food Service ในประเด็นการจัดการเรื่องปนเปื้อนและงานสุขอนามัยในครัว ซึ่ง Mike Watt ให้รายละเอียดแนวทางเดียวกับการพิจารณาตามมาตรฐาน HACCP ที่โฟกัส “จุดวิกฤต หรือ Critical Point” และสร้างแนวปฏิบัติที่เชื่อมั่นได้จริงในประเด็นการปนเปื้อน… ซึ่งแนวทางจัดการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ภายในอย่างแท้จริง และสื่อสารกับลูกค้าให้เชื่อมั่นถือว่าสำคัญกว่าที่ เจ้าของกิจการหลายท่านดิ้นรนจะกลับมาทำธุรกิจเหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนอะไร นอกจากแยกโต๊ะเก้าอี้ห่างกันตามกฏเท่านั้น
ประเด็นที่ Mike Watt พูดถึงมีอยู่ว่า… จุดวิกฤตทั้งหลายมักถูกจัดการถึงขั้นใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ต้องระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อนและตกค้างเช่นเดียกัน และที่สำคัญคือการทดสอบทางชีววิทยาที่เรียกว่า ATP หรือ Adenosine Triphosphate เพื่อตรวจสอบความเชื่อมั่นกันอีกชั้น
เรื่องของเรื่องก็คือ… แนวปฏิบัติขั้นทดสอบเชื้อในครัวไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาและเป็นธรรมชาติในธุรกิจอาหาร ซึ่งงานกำกับดูแลเชิงตรวจสอบทำนองนี้คงต้องคุยกันอีกมาก แต่ถ้าเป็นกรณีหน่วยงานด้านสุขภาพ รับเป็นเจ้าภาพลงไปช่วยเหลือร้านอาหารให้ยกระดับหลังครัวและงานภายใน ให้ก้าวไปอีกขั้น เหมือนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้ฉลากเบอร์ 5 เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยของร้านอาหารในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งหลายท่านที่เคยทำงานอยู่ร้านอาหารในอเมริกาหรือยุโรปมาก่อนน่าจะเข้าใจ
และผมคิดว่า… จังหวะนี้ดีที่สุดที่จะพูดคุยกันทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจอาหารภัตตาคาร และเจ้าของกิจการ เพราะสุดท้ายแล้ว หากเกิดอะไรทำนองเดียวกับวิกฤต COVID-19 ขึ้นอีก จะได้เหลือฟางซักมัด ให้คว้ากันได้บ้าง!
อ้างอิง
– มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ISO 22000
– https://www.foodqualityandsafety.com
– https://www.3m.co.th