ข้อดีของภาวะการระบาด COVID19 ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายนั้น ส่วนของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและน่าตื่นตาที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือประเด็นการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในหลายประเทศทั่วโลก… รวมทั้งประเทศไทย โดยมีข้อจำกัดเรื่องการพบปะแบบเดิมกลายเป็นปัญหาใหญ่ จนแม้แต่บริการของรัฐหลายอย่างหลายกรณีก็ถูกเปลี่ยนไปสู่การให้บริการออนไลน์อย่างสิ้นเชิง ทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะเดินทาง และ การส่งมอบบริการจากรัฐอย่างทั่วถึงรวดเร็วและทันเวลา ถูกสร้างขึ้นและนำใช้อย่างน่าสนใจ
กรณีชัดเจนที่สุดของการปฏิรูประบบบริการจากรัฐไปเป็นออนไลน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นรากฐานบริการดิจิทัลจากรัฐอย่างสำคัญก็คือ แอปพลิเคชันเป๋าตัง… หมอชนะ และ หมอพร้อม ซึ่งเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐเข้าหากันพร้อมกับฐานข้อมูลประชาชน เพื่อส่งผ่านบริการจากรัฐที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการใช้ “กำลังคน” จากหน่วยงานรัฐไปให้บริการมากมาย
กรณีของแอปพลิเคชันเป๋าตังซึ่งเติบโตกลายเป็น Super App อย่างชัดเจน และ กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้สังคมชาติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ Digital Payment ในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของการใช้เงินดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจในอีกไม่นานนับจากนี้… ซึ่งหลายฝ่ายมั่นใจว่าคนไทยพร้อมมากเรื่องหนึ่งแล้วในปัจจุบัน
ถ้าย้อนกลับไปดูตัวแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government ของประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. เองก็ชัดเจนว่า… มีเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐโดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ
- พัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันข้อมูลส่วนตัว
- นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในภาคธุรกิจเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
- สร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลและเปิดเผยต่อสาธารณะให้สามารถตรวจสอบได้ และ
- ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลผ่านการแสดงความเห็นหรือเสนอนโยบายทางช่องทางดิจิทัล
โดยส่วนตัวเชื่อว่า… ประเทศไทยในมิติรัฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Government ซึ่งเห็นชัดเจนเป็นความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหลักๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะแพลตฟอร์มจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งชัดเจนว่ามีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าขั้นต่อยอด รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณได้ด้วย… ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะกลายเป็นมาตรฐานในการปฏิรูประบบราชการ โดยแก้ไขความล้มเหลวหลายอย่างที่เคยเรื้อรังเป็นมาให้เหลือน้อยลงได้มาก จนไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศชาติอีก
การสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations E-Government Survey ที่ประเมินการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสมาชิก 193 ประเทศ โดยใช้ดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Government Development Index หรือ EGDI เป็นกรอบการพิจารณา ซึ่งตัวดัชนีมี 3 องค์ประกอบที่มีน้ำหนักเท่ากัน ได้แก่
- ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม หรือ Telecommunication Infrastructure Index… โดยวัดจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มือถือ และบรอดแบนด์ต่อจำนวนประชากร
- ดัชนีทุนมนุษย์ หรือ Human Capital Index… โดยใช้ตัวชี้วัดวัดจากคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศ
- ดัชนีบริการทางออนไลน์ หรือ Online Service Index… โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับบริการสาธารณะออนไลน์ของภาครัฐ
ประเทศไทยมีคะแนน EGDI อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศในปี 2020 โดยดัชนี EGDI อยู่ที่ 0.76 จัดอยู่ในระดับที่มีการพัฒนาของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ค่อนข้างสูง… แต่ก็ยังเป็นรองเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ที่ได้อันดับที่ 11 และ มาเลเซีย ได้อันดับที่ 47
ครับ!
References…