แนวทางการปรับตัว และ ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้เดินหน้าเป็น Digital Driven กันหมด… คำถามสำคัญที่ท้าทายอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะ Construction SMEs ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพในระดับ “พร้อมลงทุน” กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งแม้แต่ผู้รับเหมารายกลาง หรือ รายใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่อง “เงินลงทุน” มากนัก… แต่เกือบทั้งหมดกลับเจอปัญหา “ทักษะ และ ทรัพยากรมนุษย์” ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนกับเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่
ช่องว่างในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transform ไปสู่ Digital Construction จึงไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนเทคโนโลยี และ ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีมีราคาแพง… แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ขาดแคลนต่อการเติมเต็มช่องว่างการทำ Digital Transformation เป็นหลัก
กล่าวเฉพาะกรณีของ BIM หรือ Building Information Modeling หรือ แบบก่อสร้าง 3 มิติประกอบแผนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ออกแบบและจัดการงานก่อสร้างตามแบบ… จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้กันเพียงฟังก์ชั่นออกแบบ หรือ มากหน่อยก็มีเพียงการใช้ BIM Collaboration Platform บ้างเท่านั้น
แต่ความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร และ สภาสถาปนิก รวมทั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้าง… ได้ร่วมกันริเริ่มสร้างสรรค์ BIM Standard เพื่อรองรับการใช้ BIM กับอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย
BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีบทบาทเพียงการเป็นซอฟท์แวร์งานออกแบบ แต่ยังเป็นซอฟท์แวร์พร้อมกระบวนการดูแลวงจรชีวิต หรือ Life Cycle ของสิ่งปลูกสร้าง ครอบคลุมตั้งแต่การวางโจทย์ ออกแบบ สเป็ค ขนาด วัสดุที่ใช้ ส่งผลดีกับทุกฝ่ายเนื่องจากทำให้ทำงานได้ร่วมกันในโมเดลเดียวกัน บริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ…
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ในฐานะกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยระบุไว้ว่า… อุตสาหกรรมการออกแบบ และ การก่อสร้างจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมการก่อสร้างดิจิทัล หรือ Digital Construction เพื่อบูรณาการงานทุกภาคส่วนในการก่อสร้างบนโมเดลเดียวกับ สร้างความก้าวหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ประหยัดเวลา พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความโปร่งใส…
ประเด็นคือ… หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังคงงงงวยถีงขอบเขต และ แนวทางการทำ Digital Construction ว่า… นอกจาก BIM แล้วยังมีอะไรอีกบ้างที่จำเป็นต้องปรับ หรือ เปลี่ยนเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง
เวบไซต์ McKinsey.com ได้รวบรวม “คำปรึกษา” ที่ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ดิจิทัลในอุตสาหกรรมก่อสร้างและวิศวกรรม โดยได้ข้อสรุปเป็น 3 เสาหลักในการพัฒนา หรือ ยกระดับสู่ Digital Construction ซึ่งประกอบไปด้วย
1. Collaboration หรือ การทำงานร่วมกัน… ซึ่งในทางเทคนิคจะหมายถึง การร่วมมือกับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการภายใต้ “ข้อมูลชุดเดียว” จนแผนการก่อสร้างและกลไกการจัดการสามารถขับเคลื่อนโดย “สูญเสียเวลา หรือ Time Wastes หรือ Delays in Construction” น้อยที่สุด
2. Tracking and Forecasting หรือ การติดตามและการคาดการณ์ล่วงหน้า… ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ว่าด้วย “ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน หรือ Realtime Data” ที่ถูกต้องแม่นยำจนคาดการณ์ภาระงานลำดับถัดไปได้อย่างแม่นยำ
3. Worker Safety and Material Workflows หรือ ความปลอดภัยของแรงงานและกลไกการจัดการวัสดุก่อสร้าง… ซึ่งเป็น Supply Chain จากภายนอกโครงการ และ Workflows หรือ ขั้นตอนการทำงานกับวัสดุก่อสร้างตามขั้นตอนตามแผน รวมทั้งการจัดการของเหลือส่วนเกินและขยะจากการก่อสร้าง อันเป็นประเด็นประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ที่ต้องการ “ความลงตัวสูงสุด” ในทุกมิติ
แน่นอนว่าข้อมูลทั้งสามเสาหลักที่สรุปไว้นี้… เป็นเพียงกรอบแนวคิดซึ่งต้องการรายละเอียดทางเทคนิคอีกมากมายในการขับเคลื่อน… ซึ่งจำเป็นต้องขับเคลื่อนบนบริบทของ “หน้างาน” ซึ่งส่วนใหญีมีความแตกต่างในรายละเอียดค่อนข้างชัด และ ยากง่ายซับซ้อนแตกต่างกัน… ท่านที่สนใจคำแนะนำเรื่องซอฟท์แวร์ และ เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งโปรแกรมพัฒนาทักษะดิจิทัลในอุตสาหกรรมก่อสร้าง… ทักผมทาง Line ID: dr.thum ครับ
References…