6 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ เดอะพอทอล บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี… เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ร่วมกับ สำนักพิมพ์มติชน จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ซึ่งได้รับโอกาสพิเศษจาก เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์… ในฐานะเจ้าของผลงานหนังสือที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทย
บนเวทีวันนั้น…เจ้าสัวธนินท์เล่าหลายเรื่องให้คนมาร่วมงานเปิดตัวเกือบพันคนฟังว่า หนังสือเล่มนี้ ใช้เวลาในการสร้างสรรค์และผลิตนานกว่า 8 ปี เพราะต้องการให้เห็นว่า… ในช่วงเวลานั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง แล้วตนผ่านเรื่องเหล่านั้นมาได้อย่าง เพื่อถอดบทเรียน และให้แนวคิดจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมายาวนาน ผ่านเรื่องราวที่มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ เส้นทางชีวิต วิธีคิด และการสร้างธุรกิจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่
เนื้อหาในหนังสือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสแห่งบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถ่ายทอดหลายอย่างผ่านหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่อายุย่างก้าวเข้าสู่เลข 8 นอกจากมุมมองส่วนตัวที่ไม่ได้หาอ่านกันได้บ่อยๆ เนื้อหาข้างในยังอัดแน่นไปด้วยบทเรียนเกี่ยวกับธุรกิจ ทั้งเรื่องตัวเลข ขาดทุน ความสำเร็จ ความผิดพลาด การบริหารคน และอื่นๆ มากมาย
คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ หัวเรือคนสำคัญจากสำนักข่าว The Standard เคยสรุปบทเรียนสำคัญจากหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว ผ่าน Podcast ช่อง The Secret Sauce เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…
- ใครมีเทคโนโลยี ก็สามารถดึงเงินจากอากาศได้… ซึ่งเรื่องนี้เจ้าสัวธนินท์ ยืนยันว่า แม้แต่การเลี้ยงไก่ที่ใช้เทคโนโลยี ก็ทำให้สามารถไขว่คว้าโอกาสทางธุรกิจที่เห็นชัดผ่านกำไรที่งอกเงยมาจากไหนไม่รู้ เหมือนหล่นมาจากฟ้า
- จังหวะคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ… ในหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว มีรูปใบอนุญาตลงทุนระบุตัวเลข 0001 ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่าซีพีเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรกหลังจากเมืองจีนเปิดประเทศ ในขณะที่บริษัทต่างชาติเจ้าอื่นมองว่าปัจจัยโดยรวมของที่นั่นยังไม่พร้อมแก่การลงทุน แต่ซีพีไม่คิดแบบนั้น
- เห็นก่อนทำก่อน อย่ามองอะไรเพียงมุมเดียว… เรื่องราวก่อนมาเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนนของเมืองไทยอย่าง 7-11 ซึ่งเจ้าสัวธนินท์มองเห็นโอกาสในการเปิด 7-Eleven ที่บ้านเรา แต่สหรัฐฯ กลับไม่ยอมด้วยเหตุผลที่ว่า รายได้ประชากรต่อหัวหรือ GDP ต่ำเกินไป เขาจึงแย้งกลับไปด้วยมองมุมที่แตกต่าง เขาคิดว่าประชากรไทยมีรายได้ต่ำก็จริง แต่ความหนาแน่นมากกว่าสหรัฐอเมริกา ถึง 10 เท่า ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้รวมที่ไทยไม่แพ้ที่สหรัฐเหมือนกัน แถมยังมีการลงทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจาก ที่ดิน ค่าจ้างแรงงานราคาต่ำกว่า
- หลักการบริหารความเสี่ยง… เสี่ยงได้แต่ต้องไม่ให้บริษัทล้มละลาย แนวคิดสำคัญในการบริหารธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ ใช้หลักการบริหารความเสี่ยงแบบ 70/30 วิธีคิดมาจากการประเมินว่าถ้าลงทุนไปแล้ว 70% มีโอกาสได้ แต่ความเสี่ยงที่เหลืออยู่คือ 30% เขาจะลงมือทันที
- เมื่อเจอวิกฤต อย่าเหลิง อย่าท้อ และอย่าตาย… เจ้าสัวธนินท์เล่าเหตการณ์ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยล้มเหลวชนิดมืด 8 ด้าน เพราะหนี้ที่เคยไปกู้มาทวีมูลค่าสูงขึ้น ยกตัวอย่างหนึ่งในหน่วยธุรกิจอย่าง True Corporation… ต้องสู้กับความไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้าง วิกฤตเรื่องหนี้ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่เจ้าสัวธนินท์ทำในตอนนั้นคือ… ปิดห้องเรียกพี่น้องทั้ง 4 มาพูดคุย เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยบอกทุกคนว่า ท่านจะไม่ทำให้ธุรกิจเดิมของครอบครัวต้องล้มละลาย นั่นหมายความว่า สินค้าเกษตรยังอยู่ แต่ธุรกิจใหม่ต้องขายทิ้ง… เปรียบเทียบกับเรือที่ใกล้จมจำต้องโยนของไม่จำเป็นทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าอะไรที่ต้องรักษาไว้อยู่ เขาเลือกรักษาธุรกิจที่โลกยอมรับและมีอนาคต นั่นคือสินค้าเกษตรและอาหาร… และขอให้พี่น้องทุกคนไปเที่ยวพักผ่อนอย่างสบายใจ ตัวท่านจะอาสารับผิดชอบเรื่องนี้เอง
- จากกงสีสู่มืออาชีพ… เจ้าสัวพยายามเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจสังคม ด้วยการมอบหมายหน้าที่และอำนาจให้กับคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญมาปรับโครงสร้างองค์กร
- เชื่อมั่นเรื่องการบริหารคน… ผู้นำต้องเข้าใจก่อนว่าผู้บริหารเก่งๆ ต้องการอะไร อำนาจ เกียรติยศ และเงินทอง
- ผู้นำต้องสร้างคนที่เก่งกว่าตัวเอง… ผู้นำที่ดีต้องใจกว้างพอที่จะมองเห็นจุดเด่นหรือข้อดีของคนอื่น รู้จักใช้คนให้เป็น ไม่ลืมเคารพและให้เกียรติพวกเขา และเมื่อมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ต้องไม่ว่ากล่าวคนผู้นั้น แต่ต้องทำให้รู้ตัวเองว่า มีอะไรผิดพลาด ทำไมถึงผิดพลาด แล้วจะปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างไร… เจ้านายที่มีลูกน้องรายล้อม แต่ตัวเองยังทำงานหนักอยู่คนเดียว สาเหตุของเรื่องนี้มักมาจาก เจ้านายยังคงเชื่อว่าตัวเองเก่งที่สุด และไม่มีใครทำหน้าที่ได้ดีแทนตนได้
- เถ้าแก่น้อย คือ ลูกวัวที่ไม่กลัวเสือ… เจ้าสัวสร้างหลักสูตรเถ้าแก่น้อย ปลุกปั้นผู้นำแห่งอนาคต โดยเจ้าสัวธนินท์นำเสนอวิธีคิดเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า… ในบริษัทใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงยาก ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่มาช่วยเสริมทัพ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีกรอบความคิดเดิมมาครอบงำ ไม่มีความสำเร็จเดิมให้ยึดติด ไม่เกรงกลัวต่อความผิดพลาด… เจ้าสัวธนินท์จึงให้ลูกวัวที่ไม่กลัวเสืออย่างคนรุ่นใหม่ มาสร้างสรรค์อะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากความมั่นใจ ไม่เกรงใจอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น
- ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว… โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีความกดดันรอบตัว วันนี้เราสำเร็จพรุ่งนี้อาจล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนที่เก่งกว่า จึงต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยุคนี้ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า
ในงานเปิดตัววันนั้น… สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโสผู้สัมภาษณ์เจ้าสัวธนินท์บนเวทีหยอดคำถามใหญ่อีกหนึ่งคำถามเติมท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า… ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน?
เมื่อล้มเหลวก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรกลุ้มใจเกิน 1 วัน เพราะความกลุ้มใจไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ไม่มีใครสำเร็จในทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร เพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้ง
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2482 ที่ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร มีชื่อภาษาจีนว่า ก๊กมิ้น เป็นบุตรชายคนที่ 5 ในบรรดาบุตรทั้ง 5 คนของคุณพ่อเอ็กชอ แซ่เจี๋ย ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ… เมื่อเด็กเข้าเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2492 และได้ไปศึกษาชั้นมัธยมจนจบในปี พ.ศ. 2494 จากโรงเรียนซัวเถา ประเทศจีน และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในปี พ.ศ. 2499 จากสถาบันศึกษาฮ่องกงวิทยาลัย
ปัจจุบันถูกจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของประเทศไทยโดยนิตยสารฟอร์บข้อมูลเดือนกรกฎาคม ปี 2020 มีทรัพย์สิน 4.82 แสนล้านบาท เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 81 ของโลก
โดยส่วนตัวชื่นชอบแนวคิดหลายอย่างของเจ้าสัวธนินท์มานาน และเรียนรู้ศึกษาแง่มุมต่างๆ จากบริบทมากมายที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์แนะนำสั่งสอนและทิ้งร่องรอยไว้ให้เรียนรู้ศึกษา… และมองว่าท่านเจ้าสัวธนินท์มีผลงานด้านการค้าการลงทุนโดดเด่นระดับโลกไม่แพ้ใครครับ
References…