คนเรากินอาหารตลอดเวลา… ทุกคนกินอาหารสม่ำเสมอตลอดเวลาและคนส่วนใหญ่คิดเรื่องอาหารของตัวเองและคนใกล้ตัวตลอดเวลาด้วย… โดยเฉพาะคนเอเชียตั้งแต่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น บาหลี ไทยถึงอินเดีย ซึ่งมีเอกลักษณ์เรื่องอาหารการกิน จนสามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอาหารจากชาติไหน ซึ่งมีทั้งรายละเอียดบนจานอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงวัฒนธรรมในการกินอาหารแต่ละเมนูที่กลายเป็นจุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งของแต่ละชาติ
แต่ในยุคข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ไหลท่วมโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาเมนูอาหารปรับเปลี่ยนไปสู่ “รูปแบบอาหารที่เป็นสากล” อย่างน่าสนใจหลายมิติ ที่นักออกแบบอาหารสร้างสรรค์ขึ้นจากเครื่องปรุงและส่วนผสม หรือ Ingredient ที่หาได้จากทุกมุมโลก เพื่อนำมาออกแบบเมนูสร้างสรรค์ขึ้นใหม่… ทำให้เมนูอย่าง “แซนด์วิชขาหมูพะโล้อบซอสแกงกะหรี่” เกิดขึ้นในเคปทาวน์และเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกได้จนเชื่อได้ว่า อาหารในอนาคตน่าจะปนๆ คละๆ ส่วนผสมและเครื่องปรุงจนต่างออกไปจากปัจจุบันมาก
และเมื่อวิกฤตโควิดมาเยือนคนทั้งโลก กดดันให้มนุษยชาติเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการกินอยู่ที่เป็นเรื่อง “ตลอดเวลาและสม่ำเสมอ” ให้ต้องระมัดระวังจนการพบปะและร่วมรับประทานอาหารในบรรยากาศแออัดคับคั่ง หายไปเรื่อยๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้สบายใจที่จะเดินเข้าร้านคนแน่นๆ และนั่งกินข้าวบนเก้าอี้ชิดกับคนแปลกหน้าอีกแล้ว… แม้ปัจจุบันจะยังมีคนที่นิยมชมชอบร้านอาหารหรือสถานบันเทิงแน่นๆ เบียดๆ จะได้ยืนนั่งตัวติดกันไม่เขิน ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นบรรยากาศความสัมพันธ์มากกว่าบรรยากาศการกินอาหาร และต้องใช้โมเดลคิดอีกแบบหนึ่งต่างออกไป
ประเด็นการบริการอาหาร ที่เราได้เห็นการเสิร์ฟและส่งอาหารในภาชนะแบบใช้ครั้งเดียว จึงเป็นความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ… โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤตโควิดรุนแรงและน่ากลัวอยู่นั้น ทำให้เราได้เห็นอารยธรรมอาหารจากทั่วโลกปรับตัวไปในแนวทาง “เปลี่ยนชามไปเป็นกล่อง หรือ Bowl to Box” และเห็นโมเดลปรับเปลี่ยนจาก “Restaurant to Food Services หรือ เปลี่ยนภัตตาคารเป็นบริการอาหาร” ที่พร้อมดูแลระดับ “การกินที่ไหนก็จัดให้ได้” เหมือนที่เราได้เห็นการสั่งชาบูแถมหม้อต้มชาบูและส่งให้ถึงบ้าน ที่ฮือฮาและดังไกลไปทั่วโลก จากไอเดียผู้ประกอบการร้านชาบูจากไทย… ซึ่งผมคิดว่าอีกหน่อยคงมีโปรโมชั่นทำนองนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ราคาพลังงานที่จะใช้แปรรูปและปรุงอาหารในวันหน้า มีแต่จะแพงและไม่คุ้มค่าที่จะปรุงอาหารเองสำหรับครอบครัวขนาดเล็กตั้งแต่สายโซโลกินเดี่ยว ไปถึงครอบครัวเล็กพ่อแม่ลูก 3-4 คน ซึ่งต้องการอาหารอย่างน้อย 2 แบบสำหรับ 2 วัย… ทำให้การสั่งอาหารพร้อมกินได้เลยปลดปล่อยเวลาและทรัพยากรคืนให้ทุกครอบครัวได้ดีกว่า… ทำให้โมเดล Food Services แบบ Your Kitchen/Your Chef หรือ ห้องครัวพร้อมเชฟฝีมือดี ที่ปรุงอาหารเฉพาะให้ลูกบ้านโครงการคอนโดมิเนียมหรือจัดสรร โดยไม่ต้องมีครัวจีนครัวไทยครัวฝรั่งในพื้นที่อยู่อาศัย… และอีกแบบหนึ่งก็เป็น “อาหารในกล่องพร้อมกิน” ซึ่งกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่กลังมีการแชร์ไอเดียการออกแบบ “กล่องเสิร์ฟอาหาร และการประยุกต์เมนูอาหารในกล่องเสิร์ฟ” มีทั้งภาพและคลิปวิดีโอเผยแพร่เพิ่มขึ้นมากมากตั้งแต่ต้นปี 2020
ซึ่งถ้าท่านใช้ Pinterest เข้าไปหาไอเดียและลองใช้คำค้นอย่าง lunch box ideas หรือ lunch box design ก็จะพบว่า ทางโตของธุรกิจอาหารนับจากนี้ ต้องมีโมเดลอาหารในกล่องเข้าสู่ตลาดทั่วโลกอย่างแน่นอน…




เวบไซต์ starterstory.com ได้ยกประเด็นการทำธุรกิจบริการอาหารกล่องมาพูดถึงในหลายมิติผ่านหลายบทความอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการแยกแยะประเด่นข้อเด่นข้อด้อยของการทำธุรกิจบริการอาหารกล่องเอาไว้… ซึ่งผมลอกการบ้านมาฝากด้วยครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
ข้อเด่น
- Flexibility หรือ ยืดหยุ่นสูง… โดยเฉพาะโมเดลอาหารแบบ ซื้อกินที่ร้านก็แบบนี้ ส่งที่บ้านก็แบบนี้ เหมือน McDonald หรือ KFC ทำ
- Ability to Start Business from Home หรือ สามารถเริ่มธุรกิจที่บ้านได้…
- Quick Build Time หรือ ใช้เวลาเตรียมไม่มาก… ขายอาหารพร้อมกิน จะทำงานหลักๆ เฉพาะให้ทันมื้ออาหารที่ลูกค้ารอได้ไม่นานเท่านั้น
- Quick Rewarding Work หรือ ได้เงินไว… ซึ่งการขายอาหารพร้อมกิน ถือเป็นโมเดลรายได้ภายใต้กรอบเวลามื้ออาหารเหมือนกันทั่วโลก
- Scalable หรือ ปรับขยายธุรกิจได้ง่าย…
- Easy to Encourage Impulse Buy หรือ กระตุ้นการซื้อได้ง่ายแค่เสนอภาพและการบอกต่อที่ดี…
- You Are Your Own Boss หรือ เป็นนายตัวเอง…
- Higher Likelihood of Getting Referrals หรือ สร้างกลไกการบอกต่อได้ง่าย…
ข้อด้อย
- Time Commitment หรือ สัจจะแห่งเวลา… ซึ่งลูกค้าหิวหรือคาดว่าจะได้กินในเวลาที่ต้องการเป็นเรื่องใหญ่และมีผลต่อความพึงพอใจจากลูกค้าอย่างมาก… ธุรกิจอาหารที่หยิ่งยโสเรื่องรสชาติเป็นเลิศแต่ล้มเหลวเรื่องเวลาให้ลูกค้ารอนาน ส่วนใหญ่จึงล้มเหลวมากกว่าธุรกิจอาหารที่กินได้รอไม่นาน
- Niche Market หรือ ตลาดค่อนข้างเจาะจง… ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการขายอาหารทุกรูปแบบ โดยเราไม่สามารถขายอาหารเมนูเดียวหรือรูปแบบเดียวให้ลูกค้าทุกคนได้… แม้แต่ส้มตำเมนูฮิตก็ยังต้องแยกสูตรส่วนผสมให้ลูกค้าเลือก
- Difficult to Build Trust With Customer หรือ สร้างความเชื่อใจกับลูกค้าค่อนข้างยาก… กรณีการทำอาหารกล่องโดยไม่มีแบรนด์ หรือไม่มีกลยุทธ์การทำการตลาดที่วางแผนมาอย่างดี… เกิดไม่ง่ายและโตยากไม่ธรรมดา
- Finding Supplier หรือ หาซัพพลายเออร์ยาก… โดยเฉพาะการสั่งวัตถุดิบแบบเครดิตการค้า ซึ่งธุรกิจอาหารกล่องเล็กๆ มักจะต้องใช้ทุนเงินสด ทำให้การจัดการเรื่องโครงสร้างต้นทุนในรายที่ทุนส่วนตัวไม่มาก จะค่อนข้างติดขัดฝืดเคือง
- Motivation of Employees หรือ จูงใจลูกจ้างแรงงานยาก… เพราะเป็นธุรกิจเล็ก ที่ยังต้องพึ่งแรงงานลูกจ้างช่วย แต่ไม่มีกำลังดึงดูดโน้มน้าวลูกจ้างให้เต็มใจช่วยเหลืองาน หรืออยู่ทำงานด้วยกันไปนานๆ ทำให้ธุรกิจอาหารเล็กๆ มีการเปลี่ยนลูกจ้างบ่อยและเสียเวลาสอนงานคนใหม่เรื่อยๆ
- Work Can Be Repetitive หรือ เมนูและรูปแบบอาหารถูกลอกเลียนได้ง่าย… โดยเฉพาะการลอกเลียนจากรายใหญ่ที่ทุนหนาเครือข่ายเยอะมากกว่า
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… การทำธุรกิจเล็กให้เติบโตและมีสีสัน โดยหาทางปิดจุดอ่อนและเปลี่ยนเป็นจุดแข็งก็ยังเป็นแนวทางที่แนะนำให้ลองทำหรือวางแผนดูก่อน โดยเฉพาะการทำธุรกิจอาหารกล่องที่ใช้โมเดลการตลาดออนไลน์เข้มข้น ทั้งในมิติบริการ หรือ Services และมิติโซเชียลอินเตอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์… ลองศึกษาแนวทางของ Dessert Boxes จากออสเตรเลียดูก็ได้ครับ… หรือ Add line: จาก QR Code สีแดงใต้บทความนี้ทักเข้ามาก็ได้… เผื่อมีทางแบ่งปันไอเดียกันได้ครับ!!!
References…