ความร้อนแรงของกระแสกัญชง–กัญชานับตั้งแต่การปลดล็อคกัญชาด้วยการให้เจ้าของต้นกัญชาแจ้งการครอบครองตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2022 ซึ่งทำให้ระบบแอพ “ปลูกกัญ” ล่มตามฟอร์มบริการออนไลน์จากหน่วยงานรัฐ ที่อนุมัติทำระบบดิจิทัลทุกอย่างแบบ Minimum และ ขาดพร่องอะไรอีกมากมายเกี่ยวกับดิจิทัล
ประเด็นคือ… ความร้อนแรงของกระแสกัญชง–กัญชาซึ่งเป้าหมายหลักของการปลูกก็เพื่อการบริโภค ซึ่งมีแรงส่งถึงธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และ ยารักษาโรคที่บอกได้คำเดียวว่า… ฝุ่นตลบและสับสนกับข้อมูลข่าวสารในยุคแชร์ไวซึ่งไม่ช้าไม่นานย่อมเกิดปัญหาบางอย่างหรือหลายอย่างขึ้นมาแน่… โดยเฉพาะความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อการนำใบกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบกิจการอาหาร ที่มีนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษไปใช้ในอาหาร โดยขาดการใช้ที่รัดกุมเพียงพอ อันอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้
กรมอนามัยจึงได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสถานประกอบกิจการอาหาร ในประกาศฯ ดังกล่าว หมายรวมถึงตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะนำไปใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหารนั้น
จากเดิมตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ที่มีการลงนามเมื่อ 30 มีนาคม 2565 ซึ่ง “ข้อความในข้อ 3 เดิม” กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกหรือแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ในการนำใบกัญชามาใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อการจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร… ให้ยกเลิกความในข้อ 3 เดิมโดยเปลี่ยนเป็น… กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย แทน
สำหรับข้อกำหนดอื่นๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ…
สถานประกอบการกิจการอาหารต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่
- จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
- แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
- แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
- แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
- แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
- ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
ท่านที่กำลังคิดเมนูกัญชาเพื่อค้าขาย… ศึกษาและปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบด้วยน๊ะครับ เพราะแง่มุมของกฏหมายที่เกี่ยวกับกัญชาสามารถพลิกแพลงทางเทคนิคกฏหมายมาเล่นงานคนรู้ไม่จริงได้ง่ายมาก… ถามตำรวจที่ท่านรู้จักดูก็ได้!!!
References…