ภารกิจท้าทายของการย้ายถิ่นมนุษย์ไปดวงจันทร์ และ มีแผนจะไปไกลถึงดาวอังคาร รวมทั้งทำเลเหมาะๆ บนดาวพฤหัสและดวงจันทร์บริวาร ก่อนจะขยายเผ่าพันธ์สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น… ซึ่งถ้ามนุษย์ย้ายถิ่นไปอาศัยบนดวงจันทร์สำเร็จ ดินแดนอื่นๆ ที่เป็นบริวารพระอาทิตย์ดวงเดียวกัน หรือ แม้แต่ดินแดนในแรงโน้มถ่วงของพระอาทิตย์ดวงอื่นๆ อีกมากทั่วจักรวาล… ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ประเด็นก็คือ… มนุษย์ต้องการอาหารตลอดเวลา ถึงแม้ในขณะที่หลับอยู่จะไม่ต้องกินอะไร แต่ร่างกายมนุษย์ก็จะปลุกตัวเองขึ้นมาเพราะความหิว และ ร่างกายต้องการอาหารเสมอ… ความท้าทายของการเดินทางไกลระดับข้ามดวงดาว และ อพยพย้ายถิ่นไปยังดวงดาวที่ไม่มีแหล่งอาหารสำหรับมนุษย์โลก ซึ่งต้องจัดหาอาหารสำหรับทุกฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อต้องไปใช้ชีวิตและตั้งรกรากกันในอวกาศ ความท้าทายใหญ่หลวงนี้แม้จะมีมาตลอดในระหว่างที่เทคโนโลยีอวกาศได้ถูกพัฒนามานานมากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา… แต่ภาระกิจการสร้างอาคารบ้านเรือนบนพื้นผิวดวงจันทร์ในโครงการ NASA Artemis ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องการอาหารพร้อมกินให้มีพอสำหรับชาวจันทร์เท่านั้น เพราะความท้าทายอย่างแท้จริงก็คือการพัฒนาห่วงโซ่อาหารให้มั่นคงยั่งยืนเพียงพอสำหรับ “สิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์” ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต รวมทั้งนักเดินทางข้ามดวงดาวที่อยากแวะซื้อกาแฟบนดวงจันทร์ด้วย
ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา… องค์การอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้เปิดโครงการ Deep Space Food Challenge Phase 1 ขึ้นในวันที่ 12 มกราคม โดยเปิดรับแนวคิดการออกแบบเทคโนโลยีการผลิตอาหารแนวใหม่ ตามเป้าหมายและข้อกำหนดของการแข่งขัน โดยเปิดรับสมัครทีมแข่งขันจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ทั่วโลก เพื่อคัดเลือกไอเดียจากสหรัฐอเมริกา 20 ทีม และ จากนานาชาติ 10 ทีม… ส่วนของแคนาดาจะมีโปรแกรมขนานกันไปภายใต้การดูแลของ CSA หรือ Canadian Space Agency… โดยจะมีการประกาศรายชื่อทีมแข่งขันที่เข้ารอบ 2 ภายในเดือนกันยายนนี้
Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่ NASA ตั้งรางวัลในรอบคัดเลือกไว้มากถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ ยังเปิดกว้างสำหรับไอเดียที่เสนอจากทั่วโลก ที่มีแนวทางสร้างสรรค์เทคโนโลยีอาหารแนวคิดใหม่ หรือแนวทางการปฏิวัติห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปอาหารระดับ “Game Changing หรือ เปลี่ยนเกมส์” ในอุตสาหกรรมอาหาร… โดยมุ่งเป้าการค้นหาแนวทาง “ลดปัจจัยการผลิต และ เพิ่มผลผลิตอาหารปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และ น่ารับประทาน” ทั้งสำหรับภารกิจในอวกาศระยะยาว และ นำใช้เพื่อประชากรบนโลกอย่างยั่งยืน
ส่วนโจทย์เบื้องต้นในการแข่งขัน Deep Space Food Challenge ในรอบนี้… ทีมแข่งขันต้องเสนอโปรแกรมผลิตและแจกจ่ายอาหารสำหรับภารกิจการเดินทางในอวกาศ 3 ปี แบบไม่ต้องเติมเสบียงสำหรับนักบินอวกาศ 4 คน… สามารถปรับใช้โมเดลอาหารเดียวกันนี้สำหรับผลิตและแจกจ่ายบนโลกได้ ทั้งในเมืองและพื้นที่กันดารห่างไกล
รายละเอียดอื่นๆ ผมขอไม่พูดถึงแล้วน๊ะครับ… ท่านที่สนใจผมมีลิงค์โครงการ Deep Space Food Challenge ให้ท่านที่สนใจจริงได้ติดตามข้อมูลทั้งหมดอยู่ใต้อ้างอิงอยู่แล้ว… และขอเสริมแง่คิดอีกนิดเดียวในฐานะที่เกิดในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งมายาวนานตั้งแต่ยุคค้าขายข้ามชาติด้วยเรือสำเภา ซึ่งการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารและเป็นสินค้า ซึ่งตกทอดเป็นภูมิปัญญาอยู่กับเกษตรกร และ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะถึงทางตันตั้งแต่ชาวนาอินเดียและเวียดนาม ขายข้าวได้มากกว่าและถูกกว่าชาวนาไทยแล้ว… สำหรับเกษตรอาหารแบบใช้พื้นที่มาก ต้นทุนสูง จัดการสภาพแวดล้อมได้ยากลำบาก และ ผลผลิตต่อขนาดพื้นที่น้อยถึงขั้น… เลี้ยงดูปากท้องคนทำเกษตรเพียงให้อยู่ดีกินดีด้วยตัวเองยังไม่ได้?
จบดีกว่าน๊ะครับ… เดี๋ยวพาดพิงเสียหายถึงชื่อองค์กรและหน่วยงานสองสามชื่อที่โผล่เข้ามาในหัวผมตอนนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควรจะเป็น “ภูมิปัญญาใหม่ในการพัฒนาสินค้าเกษตรอาหาร” ให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี ซึ่งชัดเจนว่า… สินค้าเกษตรอาหารและห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับกิจกรรมการผลิตสินค้าอาหารจากต้นน้ำและรากหญ้า… จำเป็นต้องเติมความช่วยเหลือไม่น้อยเป็นรายจ่ายของทุกคนที่เสียภาษี!!!
References…