สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ หรือ สศค. ได้รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจสิ้นไตรมาส 2/2562 โดยคุณทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาสภาพัฒน์
แต่ทันทีที่รายงานตัวเลขและมิติต่างๆ เผยแพร่ออกไป ประเด็นเดียวที่หลายฝ่ายโฟกัสอย่างมากคือเรื่อง “หนี้ของคนไทย” โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ที่ภาคประชาชนเราท่าน ก่อหนี้กันเองจนตัวเลขสามเดือนแรกของปีนี้ หรือสิ้นไตรมาส 1/2562 ปีนี้… หนี้ครัวเรือนทะลุ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3 และ คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2560 โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้
ส่วนตัวเลขไตรมาส 2/2562 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด… ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี
ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 7.8%… แต่ก็ลดลงกว่าไตรมาสก่อน ที่ตัวเลขขยายตัวมากถึง 9.1% และรถยนต์ขยายตัว 10.2% ลดลงกว่าไตรมาสก่อนจาก 11.4% เช่นกัน…
ภาพรวมของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น มียอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/2562 มูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 2.74% ต่อสินเชื่อรวม และ 2.75% ต่อ NPLs รวม
ภาพรวมคร่าวๆ… ของครึ่งปีแรกก็ประมาณนี้ครับ ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อในอีกมิติหนึ่งจะหมายถึง มีการใช้จ่ายซื้อหาของชิ้นใหญ่อย่างอสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์กันอยู่ เมื่อมีการใช้จ่ายอยู่ เศรษฐกิจก็ถือว่ายังโตอยู่ ถ้าฝั่งหนี้เสียไม่โตขึ้นอย่างน่ากังวล จนเกิดอาการ “ฟองสบู่” และ “ฟองสบู่แตก” เสียก่อน
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ดันตัวเลขหนี้ครัวเรือนขึ้นสูงใกล้ 80% ของ GDP ก็คือ… เทคนิคการปล่อยสินเชื่อแบบปลอดเงินดาวน์หรือแม้แต่ การปล่อยสินเชื่อเกินมูลค่าหลักประกัน… หรือสินเชื่อเหลือเงินทอนนั่นเอง
ยิ่งในปัจจุบัน… มี Fintech Startup ที่โฟกัสเรื่อง Refinance สารพัดโมเดล ต่างเติบโตและเข้าถึงผู้คนผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ… ผมคลุกคลีอยู่กับ Startup บางส่วนที่โมเดลธุรกิจ ดูเป็นมิตรกับลูกหนี้ที่กำลังแย่… แต่เนื้อในของโมเดล มีเพียงการยืดหนี้ทั้งเวลาให้ยาวออกไป และเพิ่มวงเงินให้เยอะมากขึ้น และทำเงินกับค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่อง Win-Win กันทุกฝ่าย… แต่การแปลงหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย… เป็นหนี้ก้อนใหม่ พร้อมดอกเบี้ยยอดใหม่… ถ้าลูกหนี้เองไม่ปรับตัวและยังอยู่กับหนี้ก้อนใหญ่กว่าเดิม กับอาชีพเดิมๆ รวมทั้งการบริหารหนี้แบบเดิมๆ โอกาสจะโคจรกลับมาวังวนหนี้สินแบบเดิมๆ ก็เป็นอะไรที่เดาได้ค่อนข้างแม่น!!!

เทคนิคการปล่อยสินเชื่อแบบเลี่ยงบาลีได้โดยสุจริตแบบนี้เอง ที่ผมคิดว่า… แนวโน้มครึ่งปีหลังจนสุดไตรมาส 4/2562 เราจะเห็นการชะลอตัวอย่างแท้จริงของกำลังซื้อหลัก ลากยาวข้ามไปถึงปีหน้าค่อนข้างชัด
เอาเป็นว่า… เตรียมตัวรับภาวะหดตัวของเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายของปีนี้กันก่อนครับ!