25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564… สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ออกเอกสารเรื่อง การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้อง ผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ หรือ Intended Outcome อ้างว่า…
เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม โดยผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนที่สอดคล้องกับความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถในการรับความเสี่ยง และเพื่อเป็นการลดโอกาสในการเกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล… และแนบท้ายเป็น แบบสำรวจความคิดเห็น เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยหลักการที่เสนอตามเอกสารพร้อมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย…
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี
โดยที่การพิจารณาความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่น ๆ จะพิจารณาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่
- ฐานะการเงินของผู้ลงทุน ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการรับผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน และ
- ความรู้ ความเข้าใจในการลงทุนซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนรู้เท่าทันการลงทุน และลดโอกาสในการเกิดความเสียหายจากการลงทุนได้
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีจาก 2 ปัจจัยข้างต้น โดยผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีได้ ต้องมีทั้งคุณสมบัติด้านฐานะการเงินและด้านความรู้ประกอบกัน ดังนี้
- คุณสมบัติด้านฐานะการเงิน ได้แก่
ก. มีรายได้ต่อปี ไม่นับรวมกับคู่สมรส ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
ข. มีสินทรัพย์สุทธิ (net worth) ตั้งแต่ 10 ล้านบาท โดยไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยประจำ หรือ
ค. มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (port size) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป - คุณสมบัติด้านความรู้ โดยจะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี หรือ มีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเป็น professional ตามที่สำนักงานกำหนด
ในกรณีผู้ลงทุนลักษณะอื่นที่ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดข้างต้น จะไม่สามารถลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีได้โดยตรง โดยสามารถลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีผ่านผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Fund manager) เท่านั้น
ทั้งนี้ ในการเปิดบัญชีใช้บริการใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท
การกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test)
ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีตามหลักการข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลจะมีความรู้ ความเข้าใจที่เพียงพอเหมาะสม สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเห็นควรกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดให้มีการทดสอบความรู้ผู้ลงทุน (knowledge test) ซึ่งครอบคลุมหัวข้อเรื่อง ลักษณะความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อประเมินทดสอบความรู้ผู้ลงทุนก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุนด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะสามารถเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีคะแนนการทดสอบความรู้ในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
ลิงค์เอกสารต้นฉบับอยู่ใต้ References เช่นเดิมครับ… โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยในส่วนการทำ Knowledge Test แต่ไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นไว้สำหรับนักลงทุนรายใหญ่และกองทุนเท่านั้น ในขณะที่ผลักรายย่อยให้หนีไปใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งภาพรวมหลังจากนี้… คงไม่ต่างจากกรณีคาสิโนถูกกฏหมาย บ่อนเถื่อนและการข้ามแดนไปเล่นพนันได้ทุกด่านชายแดนอย่างที่เป็นอยู่ ถึงขั้นโควิดระบาดสาหัสก็ยังปิดกั้นอะไรไม่ได้
ผมคิดว่าถ้าสมาคมฟินเทคประเทศไทย หรือ Thai Fintech Association เอาด้วยกับทุกเงื่อนไขในหลักการนี้… สมาชิกบางส่วนคงอยากตั้งสมาคมใหม่ขึ้นมาแข่งบ้างแน่ๆ
ด้วยความเคารพทุกท่านในสมาคมฟินเทคประเทศไทยครับ!
References…
- https://www.sec.or.th/Documents/PHS/Main/700/hearing092564.pdf
- Featured Image: GETTY