เผ่าพันธุ์มนุษย์อาศัยอยู่ในโลกที่มีออกซิเจนเหลือเฟือให้เราฟุ่มเฟือยกับลมหายใจมานาน กระทั่งฝุ่นควันและก๊าซพิษ ที่มนุษย์ช่วยกันสร้างขึ้นจากวิวัฒนาการของมนุษย์เอง และภัยธรรมชาติที่มนุษย์หมดปัญญาจะควบคุมได้ กำลังคุกคามมนุษย์มากขึ้นจนกลายเป็นข้อพิพาทระดับโลกไปแล้ว
เมืองใหญ่น้อยทั่วโลกเองก็เริ่มหาพื้นที่ๆ เรียกว่า “ปอด” อันหมายความถึง พื้นที่ๆ มีอากาศสะอาดให้ลมหายใจของผู้คน… ยากขึ้นจนเราเห็นภาพคนใส่หน้ากากอนามัยเดินในสวนสาธารณะ!!!
ในขณะที่ป่าสงวนหลายพื้นที่ในโลก มีต้นไม้ช่วยเติมออกซิเจนให้ระบบนิเวศน์ได้ดีเพียงบางช่วงเวลาของปี… บ่อยครั้งก็เกิดไฟป่าสร้างผลกระทบทางอากาศในวงกว้างยาวนานได้เหมือนกัน
ประเด็นก็คือ… เราพึ่งธรรมชาติและส่วนรวมที่มีส่วนร่วมของคนจำนวนมากไม่ได้เลย… กรณี PM 2.5 ที่เราต้องซื้อหน้ากากเดินออกจากรถยนต์ที่ขับมาทำงานเหมือนเดิม ก่อนจะไปอยู่ในห้องปิด เพื่อเปิดแอร์พร้อมระบบฟอกอากาศขังตัวเองรวมกันอยู่ในนั้น… แต่อีกด้านหนึ่งของผนัง แค่หายใจเอาอากาศบริเวณนั้นเพียงหนึ่งนาทีก็แสบคอแล้ว… ซึ่งทั้งหมดหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายก็ถือว่าไม่น้อยทีเดียวกับค่าใช้จ่ายเพื่อให้อยู่ได้ไม่ลำบาก
เมื่อไม่นานมานี้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Plasma Sources Science and Technology เป็นผลงานของคณะนักฟิสิกส์จาก Universities of Lisbon และ Universities of Porto ภายใต้การนำทีมของ Dr. Vasco Guerra… ซึ่งเป็นผลงานการค้นพบ ขั้นตอนการผลิตออกซิเจนจากพลาสมาในอุณหภูมิต่ำสำหรับการอยู่อาศัยบนดาวอังคาร… ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ คาดหวังว่าจะสามารถแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ห่อหุ้มดาวอังคารอยู่กว่า 96% ให้แตกตัวเป็นออกซิเจน (O2) และคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)

ตัวรายละเอียดทางเทคนิคผมขออนุญาตข้ามไปน๊ะครับทั้งเทคนิคการยิงพลาสมาใส่คาร์บอนไดออกไซด์ และเทคนิคสร้างแรงสั่นกับโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ที่อุณหภูมิติดลบ หรือที่คนแวดวงฟิสิกส์ชั้นสูงคุยกันเรื่อง Methods to Vibrationally Excite CO2 with Plasma ที่ยังต้องศึกษาและพัฒนาอีกมาก… โดยเฉพาะโครงการ Plasma Catalysis for CO2 Recycling ที่ผมเป็นคนหนึ่งที่ Update และติดตามข้อมูลข่าวสารแบบเกาะติดมาระยะหนึ่ง โดยมีงานจากทีม 15 นักศึกษาระดับดุษฎีจาก Eindhoven University of Technology ประเทศเนเธอแลนด์เป็นศูนย์กลาง… ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะได้ทั้งออกซิเจนและแหล่งพลังงานใหม่ หรือไม่ได้อะไรก็ตามในเร็ววันนี้
ข้อสังเกตจากการที่ นักวิทยาศาสตร์ทีม Dr. Vasco Guerra ที่เสนอแนวคิดการแยกออกซิเจนออกมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยพลาสมา ตั้งข้อแม้ว่า… เทคนิคนี้น่าจะใช้ได้ผลที่ดาวอังคาร แต่ไม่สามารถใช้แปลงคาร์บอนไดออกไซด์ของชั้นบรรยากาศโลกได้
แต่ในมุมมองของผมเชื่อว่า… อีกไม่นานเราน่าจะค้นพบวิธีผลิตอากาศดีๆ คล้ายๆ เทคนิคแบบนี้ เพื่อต่ออายุลมหายใจของพวกเราชาวโลก ที่มนุษย์ควบคุมได้มากกว่าธรรมชาติหรือมนุษย์ด้วยกันเอง… การถกเถียงและเสนอข้อคิดเห็นประเด็นนี้ ในกลุ่มนักนิยมเทคโนโลยีจึงถือว่า HOT มากเรื่องหนึ่งของโลก
แต่ยังไงๆ โลกก็คือบ้านและหวังว่า พวกเราจะไม่ต้องมองบ้านผ่านหมอกควันตลอดหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง… และปลอดภัยจากฝุ่นพิษทุกขนาดไมครอนที่ทำพวกเราเครียดจนใกล้จะชินกับข่าว PM 2.5
หลายวันก่อนผมได้แลกเปลี่ยนไอเดียกับทีม PropTech Startup ที่กำลังหาทางทำ Oxygen Shield ให้โครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายเทคนิคทีเดียว… และโชคดีที่ไม่ได้เป็น Startup ในเมืองไทยที่คงหาทางบ่มฟักไอเดียยากกว่าแนวคิดทำ Startup โมเดลอื่นๆ ที่เสี่ยงน้อย ล้มเหลวต่ำกว่าการท้าทายระดับนี้… ผมก็ได้แต่ขอบคุณที่เขายอมแบ่งปันข้อมูลเล็กน้อยเป็นวิทยาทาน… และขอบคุณที่ฝันของคนเหล่านี้ท้าทายความสามารถมนุษย์ไปอีกขั้น… ทั้งทีมของ Dr. Vasco Guerra, ทีม Eindhoven University และเพื่อนพ้องจากมุมไบ
อ้างอิง
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S2212982018304013
- https://www.co2pioneer.eu
- https://www.sciencedaily.com/releases/2017/10/171018113316.htm
- https://phys.org/news/2017-10-mission-mars-oxygen-plasma-technology.html
- https://www.matichon.co.th/lifestyle/tech/news_714713
- https://www.researchgate.net/profile/Vasco_Guerra2
- https://ioppublishing.org/news/a-mission-to-mars-could-make-its-own-oxygen-thanks-to-plasma-technology/