อัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนผ่านค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนจากปัจจัยรุมเร้าเดียวกันทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีเกือบเท่าตัวทุกชนิด นำมาซึ่งการก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐที่อ่อนด้อยไม่เท่าทันสถานการณ์ โดยเฉพาะประเด็นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และ ข้ออ้างเรื่องราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้คนเอ่ยอ้างดูไร้ปัญญาทุกครั้งที่พูด…
ในที่สุดก็มีการประชุมหาแนวทางและมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนจากภาวะน้ำมันแพง โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าประชุทร่วมกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 16 มิถุนายน 2022… ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการให้ข้อมูลของคุณกรณ์ จาติกวานิช ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า… รวมทั้งคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน… ที่ทั้งสองท่านชี้เป้าตรงกันเรื่อง “ค่าการกลั่น” ในโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาใหญ่เรื่องค่าครองชีพในขณะนี้
หลังการประชุมเสร็จสิ้น… คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมว่า… ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะ “เรียกเก็บกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมัน” ซึ่งกระทรวงพลังงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อนำมาชดเชยราคาหน้าปั๊ม พร้อมมาตรการอื่นๆ เกี่ยวกับราคาน้ำมันดังนี้คือ
- ขอความร่วมมือ “ผู้ค้าน้ำมัน” คงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร
- ขอความร่วมมือ “โรงกลั่นน้ำมัน” ในการนำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 – 7,000 ล้านบาท แยกเป็น… กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน ประมาณเดือนละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท… กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท
- ขอความร่วมมือ “โรงแยกก๊าซ” ที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมีที่มีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท
การดำเนินการในครั้งนี้… คาดว่าจะสามารถเก็บเงินได้รวมทั้งหมดประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2565… คิดเป็นวงเงินรวมสูงสุดประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลา 3 เดือนกว่า
คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า… มาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี และ ไม่ต้องมีการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงแต่อย่างไร
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ผ่านการพิจารณาในวาระวันนี้… ยังมีการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพเดิมที่จะสิ้นสุดอายุ โดยในเบื้องต้นประกอบด้วย
- การตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่
- การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก
- การให้ส่วนลดค่า FT ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย… ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
มาตรการทั้งหมดจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2065… ซึ่งงบประมาณสำหรับต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพเดิมจะเปลี่ยนจากการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาใช้งบกลางไปดำเนินมาตรการ