ราคาทองแดงประจำวันที่ 20 มีนาคม 2023 ซื้อขายกันที่ 8,620.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยก่อนหน้านั้นได้มีข้อมูลวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองแดงในตลาดโลกจาก Goldman Sachs ที่คาดว่า… ราคาทองแดงในปี 2023 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน… โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยจะกระโดดไปที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ภายในปี 2024
ความเห็นจากนักวิเคราะห์ IG Bank ถึงความเคลื่อนไหวของราคาทองแดงว่า… การค้าทองแดงจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของจีน และ เข้าสู่ภาวะขาดดุลอุปทานทองแดงซึ่งใช้ในการผลิตสายไฟ ท่อประปา ยานพาหนะไฟฟ้า และ เครื่องจักรอุตสาหกรรม… โดยเฉพาะการเติบโตของตลาด EV ทั่วโลกที่ต้องการทองแดงสำหรับระบบไฟฟ้าในรถอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นจาก ING Think ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินของสถาบันการเงินสัญชาติเนเธอร์แลนด์อย่างธนาคาร ING ที่มองว่า… ในระยะสั้นพบแนวโน้มว่าราคาทองแดงจะเป็นขาลง แต่ราคาซื้อขายทองแดงน่าจะอยู่เหนือระดับ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตลอดปี 2023 เนื่องจากอุปทานตึงตัวอย่างชัดเจน
ข้อมูลจาก Goldman Sachs ชี้ว่า… อุปสงค์ทองแดงโลกจาก Energy Transition ในปี 2030 คาดว่าจะสูงถึง 6.6 ล้านตัน… โดยคิดเป็น 16% ของความต้องการใช้ทองแดงทั้งหมด เมื่อเทียบกับเพียง 4% ในปี 2021… ในขณะที่อุปทานทองแดงโลกในปี 2022 ที่ผ่านมานั้น สต๊อกทองแดงบริสุทธิ์แคโทด หรือ Copper Cathode Purity อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และ จำนวนการอนุมัติเปิดเหมืองทองแดงใหม่อยู่ในระดับที่ต่ำมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การลงทุนตั้งเหมืองทองแดงใหม่นั้นต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเงินลงทุนที่สูงกว่าเดิมมาก
นอกจากนั้น… ยังพบปัญหาคุณภาพแร่ทองแดงที่ลดลง และ ความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง และ นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแหล่งแร่ทองแดงที่สำคัญของโลกอย่างชิลี และ เปรู… ได้ทำให้ตลาดทองแดงโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิด “ช่องว่าง หรือ Gap” ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดย Goldman Sachs ประมาณว่า… Gap นั้นจะถ่างขึ้นเรื่อยๆ และ จะมากถึง 7.8 ล้านตันในปี 2023
อย่างไรก็ตาม… ทองแดงเป็นโลหะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้โดยแทบจะไม่เสียคุณภาพไป ทองแดงรีไซเคิลจากทองแดงมือสอง หรือ Secondary Copper จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งอุปทานที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต…
แนะนำบทความเรื่อง Electric Motor Scraping… ธุรกิจเหมืองทองแดงจากกองขยะ #GreenSociety
ข้อมูลจาก SCB EIC ชี้ว่า… สำหรับประเทศไทย อุปสงค์ทองแดงหลักๆ มาจาก 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีมาตรการผลักดันอุตสาหกรรมรถ BEVs โดยได้ออกเงื่อนไขให้ค่ายรถที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน จะต้องผลิตรถชดเชยต่อการนำเข้ารถ CBU และ ต้องผลิต หรือ ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งการผลิตรถ BEVs จะใช้ปริมาณทองแดงเพิ่มขึ้น 3.6 เท่าต่อคัน เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ทั้งในรูปของสายไฟ และ ฟอยล์สำหรับแบตเตอรี่ ทำให้ความต้องการใช้ทองแดงของประเทศนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ อุตสาหกรรมทองแดงของประเทศไทยมีเพียงผู้ผลิตกลางน้ำ และ ปลายน้ำเท่านั้น โดยผู้ผลิตขนาดใหญ่ซึ่งมีโรงหลอมเป็นของตัวเองจะนำเข้าทองแดงบริสุทธิ์แคโทดจากต่างประเทศ หรือ ใช้เศษที่เหลือจากการผลิตของโรงงานเองมาหลอม เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทองแดง ซึ่งผู้ผลิตขนาดกลาง และ ผู้ผลิตปลายน้ำ จะนำเอาผลิตภัณฑ์ทองแดงเหล่านั้นมาผลิตสินค้าต่อไป… พื้นฐานการผลิตที่ต้องใช้ทองแดงจึงพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตทองแดงไทยต้องขึ้นอยู่กับราคาทองแดงในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้… อุตสาหกรรมทองแดงมือสอง หรือ Secondary Copper จึงน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกนับจากนี้…
References…