พูดถึงงาน 3D Printing ขนาดใหญ่ที่ใช้เพื่องานก่อสร้างและงานสถาปัตยกรรม ชื่อของ Professor Dr. Behrokh Khoshnevis ผู้อำนวยการ Center for Rapid Automated Fabrication Technologies หรือ CRAFT อยู่ที่ University of Southern California ซึ่งถือเป็นวิศวกรระดับนักประดิษฐ์ที่คว่ำหวอดอยู่ในแวดวง วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมอุตสาหกรรม ไปจนถึงวิศวกรรมการบินและอวกาศ… และถือเป็นนักประดิษฐ์ลำดับแรกๆ ที่นำแนวคิดการสร้างเครื่องพิมพ์ 3D ขนาดใหญ่ เพื่อใช้งานการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม
Professor Dr. Behrokh Khoshnevis ได้ก่อตั้ง CRAFT หรือ Center for Rapid Automated Fabrication Technologies เพื่อพัฒนาเครื่องจักรก่อสร้างที่สามารถทำงานอ้างอิง “เส้นนำ หรือ Contour” ในการสร้างชิ้นงานให้เป็นรูปร่างตามแบบแปลน

งานต้นแบบของ Dr. Khoshnevis เผยแพร่ครั้งแรกๆ ราวปี 2011 และได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากมาย จนก่อตั้ง Contour Crafting Corporation ขึ้นในแคลิฟอร์เนีย และถือว่าเป็นการพาต้นแบบออกจากห้องทดลองมาสู่โลกธุรกิจของ 3D Printing Technology ที่กลายเป็นเสาหลักในวงการก่อสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3D จนการตื่นตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ตอบรับเทคโนโลย 3D Printing… กลายเป็นกระแส Disrupted สายหนึ่งที่ต้องจับตากันแบบห้ามกระพริบ!!!
ที่จะบอกก็คือ… Contour Crafting Corporation หรือ CC Corp อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยเทคนิคการพิมพ์สามมิติที่หลายๆ บริษัทใช้ เพราะ CC Corp ภายใต้การนำของ Professor Dr. Behrokh Khoshnevis นั้น… ก้าวหน้าไปถึงขั้นการก่อสร้างอัตโนมัติที่สามารถสร้างบ้านขนาด 2000 ตารางฟุต หรือ 185.8 ตารางเมตรเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง… ซึ่งงานก่อสร้างมีการทำงานอัตโนมัติด้วยเทคนิคก่อสร้างทั้งการพิมพ์สามมิติและการติดตั้งชิ้นส่วน Prefabrication
และที่สำคัญกว่านั้นคือ ค่าใช้จ่ายลดลงกว่าเดิม 5 เท่า
ปัจจุบัน CC Corp อ้างว่า… มีเทคโนโลยีการก่อสร้างระดับ Fully Autonomous Operation ที่สามารถก่อสร้างอาคารได้หลายชั้น รวมถึงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมได้หลายยูนิตในอาคารขนาดใหญ่หลายชั้น ที่โครงสร้างซับซ้อนมากๆ ได้แล้ว…
นอกจากนั้น… CC Corp ยังเป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศกับแนวคิดการพิมพ์สามมิติในโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างในอวกาศ ที่นาซ่าจัดขึ้นในการแข่งขันชื่อ NASA In-Situ Materials Challenge… ซึ่ง CC Corp ชนะด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบ Selective Separation Sintering ที่มีแนวคิดในการใช้วัสดุแบบผงขึ้นรูปด้วยความร้อนหรือรังสีเฉพาะ โดยการส่งหุ่นยนต์สร้าง Interlocking Tiles หรือกระเบื้องตะขอ ไปแปลงพื้นที่ก่อสร้างที่มีแม็กนีเซี่ยมหรือแร่ธาตุที่เหมาะสมอย่าง Sulfur ให้กลายเป็นงานก่อสร้างแบบผลิตชิ้นงานในที่ ไม่ต่างจากการหล่อคอนกรีตในที่บนโลก ที่หล่อขึ้นรูปชิ้นงานคอนกรีตแบบผสมน้ำ หรือ Water Based… แต่บนดวงจันทร์หรือดาวอังคารที่ไม่มีน้ำ ก็เพียงแต่ใช้ความร้อนหรือรังสี สร้างชิ้นงานในที่ขึ้นมา
ความก้าวหน้าในวิทยาการด้านการพิมพ์สามมิติ กำลังแสดงบทบาทของผู้มาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ใครเผลอ… อาจจะตามเขาไม่ทันจนแข่งขันไม่ได้อีกเลย!
อ้างอิง