วันนี้ลอกการบ้านศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ หรือ SCBEIC มาฝาก Properea Fan สายก่อสร้างโดยเฉพาะครับ… เรียบเรียงจากรายงานต้นฉบับหัวข้อ ส่องอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยช่วงที่เหลือของปี 2021 และแนวโน้มปี 2022… ซึ่งนักวิจัยจาก SCBEIC ให้ความเห็นว่า
มูลค่า “การก่อสร้างภาครัฐ” ปี 2021 ขยายตัวจากปีก่อน 6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ แต่การระบาดของ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างภายใต้มาตรการ Bubble and Seal สร้างแรงกดดันต่อภาคก่อสร้างในช่วงปลายปี
ทั้งนี้… ในปี 2021 “การก่อสร้างภาครัฐ” ได้รับปัจจัยหนุนจากการเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน… โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3… โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เฟส 1 และ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมาจากในอดีต และ มีความคืบหน้า เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี… ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินทยอยเข้าสู่การก่อสร้างภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
สำหรับงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ 4 หน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง ได้แก่ กรมทางหลวง… กรมชลประทาน… กรมทางหลวงชนบท และ กรมโยธาธิการและผังเมือง ขยายตัวจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมทางหลวงได้รับงบประมาณกว่า 126,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน +11% ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ก่อสร้าง ปรับปรุงทางหลวงและสะพาน รวมถึงกรมชลประทานได้รับงบประมาณกว่า 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +9% ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ก่อสร้างขยายพื้นที่ชลประทาน
ส่วน “การก่อสร้างภาคเอกชน” ยังมีทิศทางชะลอตัวตามการหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2021 อยู่ที่ราว 514,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน -7% และในปี 2022 มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนจะยังมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากยังเผชิญความท้าทายจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวได้ช้า
ในปี 2022… ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์รับงานก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวได้ช้าของภาคอสังหาริมทรัพย์… รวมทั้งภาวะต้นทุนเหล็กและแรงงานสูงขึ้น โดยราคาเหล็กจีนที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาเหล็กไทยจะยังอยู่ในระดับสูงตามไปด้วย รวมถึงคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานออกจากกรุงเทพและปริมณฑล และยังไม่กลับเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด… โดยภาวะขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น อาจลากยาวไปถึงปี 2022
นักวิเคราะห์จาก EIC มองว่า… ความท้าทายสำคัญสำหรับการเติบโตของภาคก่อสร้างในระยะต่อไป ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นจากอดีตได้มากนัก นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ภาคก่อสร้างเผชิญสถานการณ์การไหลออกของแรงงานไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ประกอบกับสัดส่วนแรงงานอายุน้อยในภาคก่อสร้างที่ค่อยๆ ลดลงจากเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ท่ามกลางความต้องการใช้แรงงานพื้นฐานอย่างเข้มข้น ทำให้ภาคก่อสร้างยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
การนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยเพิ่ม Productivity โดย “ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลาง” อาจขยายการใช้เทคโนโลยีจากที่ใช้เฉพาะ Prefabrication, Modular, BIM และ ERP ไปสู่การใช้เทคโนโลยีตลอด Supply Chain ตั้งแต่จัดหาวัสดุก่อสร้าง สำรวจพื้นที่ ส่งมอบงาน ไปจนถึงบริการดูแลรักษาระบบ
ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจเริ่มต้นจากการใช้ BIM และ ERP ก่อน โดยจะสามารถลดการใช้แรงงานพื้นฐาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ Upskill แรงงานพื้นฐานให้ไปทำงานที่ทักษะสูงขึ้น ทั้งงานควบคุมเทคโนโลยี และงานที่ใช้ฝีมือ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ประกอบการในระยะยาว
ประมาณนี้ครับ…
References…