เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน CLMV 2021

ข่าวแผนการใช้วัคซีน COVID19 ที่หลายประเทศชั้นนำ ต่างเคลื่อนไหวเพื่อแจกจ่ายวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด และครอบคลุมที่สุด ได้นำความหวังมาสู่สังคมและเศรษฐกิจการค้า ทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณบวกหลายอย่าง ทั้งราคาน้ำมันและหุ้นที่เริ่มทรงตัวและขยับขึ้นลงผันผวนเล็กน้อยแต่ก็อยู่ในช่วงขาขึ้น… ส่วนราคาทองคำก็อ่อนตัวลงมาต่อเนื่อง ให้ชาวพื้นราบไม่ต้องแหงนคอรอราคาเกินมุมเงยปกติแล้ว

แต่ซากปรักหักพังจากร่องรอยผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ยังคงกดดันให้เห็นสภาพของผลกระทบทุกมิติอย่างน่าสนใจ ซึ่งหลายความเห็นมองว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 กันโน่นเลย

การแลกเปลี่ยนข้อมูลและทัศนคติต่อสภาพเศรษฐกิจการค้า กับครูบาอาจารย์หลายท่านที่ผมเคารพ หลายความเห็นยังคงแสดงความกังวลถึงภาพรวมของปีหน้า ที่มองว่าน่าจะต้องเหนื่อยกันอีกมากทีเดียว… บางความเห็นยังมองว่า ปี 2021 ถือเป็นปีที่ต้องเก็บกู้ซากความเสียหายจากผลกระทบ ไปพร้อมๆ กับการลุยสร้างเศรษฐกิจการค้าเข้าขั้นเริ่มจากศูนย์ในหลายๆ กรณี

พอหันมามองเพื่อนบ้านรอบไทยอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับไทยก็พบว่า… สภาพโดยรวมก็อยู่ในภาวะไม่ต่างกัน ซึ่งนอกจากเวียดนามที่รับมือวิกฤตคราวนี้ได้สูสีกับไทยแล้ว  ที่เหลือทั้งกัมพูชา เมียนมาและลาว แม้จะรับมือการระบาดได้ค่อนข้างดีไม่ต่างกันมาก แต่มาตรการทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้รับมือ ก็ไม่ได้ถึงลูกถึงคนระดับเดียวกับไทยหรือเวียดนาม

คำถามคือ… Recession หรือ ภาวะถดถอยเข้าขั้นเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่แบบนี้ เป็นโอกาส หรือ เป็นอุปสรรค

แน่นอนว่าผมคิดถึงเรื่องเซลล์ขายรองเท้าสองคน เดินทางเข้าแอฟริกาไปเจอคนที่นั่นไม่ใส่รองเท้า… เซลล์คนแรกทำรายงานกลับมาบอกว่า… ที่นี่ไม่มีคนใส่รองเท้าเลย เราขายรองเท้าให้คนไม่ใส่รองเท้าไม่ได้แน่ แต่เซลล์อีกคนหนึ่งรายงานกลับมาว่า… ที่นี่ยังไม่มีใครมีรองเท้าใส่เลย ถ้าเรารีบวางตลาดรองเท้าเดี๋ยวนี้ ยอดขายกระฉูดแน่

ผมเอาสองเรื่องนี้มาเล่าต่อกันเพราะว่า… กลุ่มประเทศ CLMV และไทย ดูเหมือนจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด หลัง Lockdown ได้ดี โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง และแม้ว่าเมียนมาจะยังเข้าขั้นน่าเป็นห่วงอยู่ แต่ก็เพิ่งมาระบาดช่วงครึ่งหลังของปี และเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรก็ยังถือว่ายอมรับได้ และเมื่อมีวัคซีนแล้วหลายอย่างคงคลี่คลายไม่ช้า

ประเด็นก็คือ… เขตนี้น่าสนใจสำหรับการเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนจากไทยอย่างมากครับ หลายท่านที่ค้าขายกับเพื่อนบ้านแถบนี้จะทราบว่า หลังยกเลิก Lockdown เข้มข้นช่วงมีนาคม–พฤษภาคมปี 2020 แล้ว… การค้าข้ามชายแดนกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติในสินค้าหลายหมวด แถมบางหมวดยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

SCBEIC หรือศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ติดตามเรื่องนี้มารายงานถี่ยิบเหมือนกันครับ โดยออกรายงานการวิจัยชุด CLMV Outlook ทั้งไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2020 ออกมาต่อเนื่อง เหมือนชี้เป้าการค้าการลงทุนไปในตัว

รายงานของ SCBEIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาว่า จะเกิดการหดตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -3.0% ในปี 2020F แม้กัมพูชาจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID19 แต่เศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 18% ของ GDP และอุปสงค์ต่อสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักยังคงซบเซา… นอกจากนี้ การถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลลบต่อการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งคิดเป็น 63% ของ GDP… อีกปัจจัยหนึ่งคือ อุปสงค์จากต่างประเทศยังอ่อนแอ จะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่ง SCBEIC ประเมินเพิ่มเติมว่า นอกจากเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัว -3.0% ในปี 2020F แล้ว อัตราการขยายตัวจะค่อนข้างต่ำที่ราว 5.0% ในปี 2021F แม้กัมพูชาจะผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ส่วนใหญ่แล้ว โดยมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มซบเซา เนื่องจากมาตรการกักตัว ขณะที่การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลลบต่อเนื่องถึงอุปสงค์ในภาคส่งออก รวมถึงรายได้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน 

ส่วนของเศรษฐกิจลาวคาดว่าจะลดลงเป็น 0.5% ในปี 2020F นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงแล้ว ข้อจำกัดด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่น่ากังวล จะยิ่งทำให้ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID19 ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การฟื้นตัวในระยะข้างหน้า อาจเผชิญข้อจำกัดด้านการคลัง รวมถึงจาก

ระดับหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ภาครัฐ นอกจากนี้ ลาวยังมีความเสี่ยงในประเด็นการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง การอ่อนค่าของเงินกีบอาจเป็นอีกแรงกดดันต่อการชำระหนี้ในรูปเงินสกุลต่างประเทศ ที่เป็นสัดส่วนเกือบทั้งหมดในหนี้สาธารณะ… ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของลาวที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นความท้าทายหลัก แม้รัฐบาลลาวจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown… แต่มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะเผชิญข้อจำกัดจากการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ลาวยังมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ และรายได้ภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ลาวถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือลงโดย Moody’s ปรับลงเป็น Caa2 และ Fitch Ratings ปรับลงเป็น CCC… ซึ่งจะส่งผลให้ลาวมีต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้น และยิ่งเป็นแรงกดดันให้เงินกีบอ่อนค่า… SCBEIC จึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลาว ปี 2020 หดตัว -0.5% และคาดการฟื้นตัวในปี 2021 ยังมีความเสี่ยง และคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 4.5%

ฝั่งเศรษฐกิจเมียนมาคาดว่าจะลดลงเหลือ 1.5% ในปี 2020F สะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเกือบทุกภาคส่วน ก๊าซธรรมชาติ และ เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักได้รับผลลบรุนแรงจากอุปสงค์ที่ทรุดตัว ขณะที่การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะยังซบเซาต่อเนื่อง จากการขยายระยะเวลา มาตรการ Lockdown ทำให้ตลาดแรงงานส่งออกอ่อนแอ และเงินส่งกลับจากต่างประเทศลดลง… การระบาดระลอกใหม่ของ COVID19 และมาตรการ Lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้นจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา ธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลง และการจำกัดการเดินทางส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการจ้างงานและรายได้ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันต่อการผลิตและการส่งออก ขณะที่ FDI จะยังคงซบเซาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาลงเป็น 4.0% ในปีงบประมาณ 2020/2021

ส่วนประเทศเวียดนาม… จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายเมืองหลักน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวมากกว่าที่คาด… SCBEIC จึงได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามลงเป็น 2.3% ในปี 2020F… โดยเวียดนามได้ประกาศให้มาตรการ Lockdown ในหลายเมืองหลักมีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2020F… อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง เศรษฐกิจเวียดนามจะได้ผลบวกจากข้อตกลงการค้า EVFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 รวมถึงการที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งมีแนวโน้มย้ายการลงทุนมายังเวียดนาม… ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2020 หลังจากเวียดนามเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง… SCBEIC ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวราว 7.0% ในปี 2021F นอกจากนี้ เวียดนามจะได้ผลบวกจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นภายใต้ข้อตกลงทางการค้า EVFTA จากอุปสงค์โลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงแนวโน้มการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน… อย่างไรก็ดีเวียดนามยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการที่สหรัฐอเมริกาจะขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน และการระบาดระลอกใหม่ของ COVID19

สัญญาณที่ SCBEIC พบจากการวิจัยก็คือ… เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายนปี 2020 แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ Lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 

ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ 

เศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง… ในขณะที่การระบาดของ COVID19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วน จะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา… ส่วนเศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง หรือ Fiscal Space และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้… สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID19 และมาตรการ Lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

รายละเอียดตามเอกสารอ้างอิงใต้ References ไปดูเอาน๊ะครับ… สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ เศรษฐกิจ CLMV อยู่ในช่วงขาขึ้น แม้มีวิกฤตมากระทบให้อ่อนไหว แต่ยังไงๆ ก็ยังเติบโตท้าทายแรงกดดันสารพัดได้อยู่ และพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านเราครับ

References…

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

FOMO Trader

Fear of Investing…ความกลัวกับการลงทุน

ในหนังสือ Trading in the Zone: Master the Market with Confidence, Discipline and a Winning Attitude ของ Mark Douglas พูดถึงนักลงทุน หรือ นักเทรดกลุ่มเล็กๆ เพียง 10% ที่ Always’ Win หรือ อยูใน Winning Zone ในขณะที่ 30%-40% ขาดทุนยับเพราะซื้อแพงขายถูก หรือ ทำกำไรได้น้อยนิดกับบางออเดอร์ เพราะรีบซื้อรีบขายอย่างร้อนรน ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ลงทุนในรอบนั้น… ยังปรับตัวไปต่อในทิศทางที่ FOMO จนสั่นเสียดาย และ ต้องรีบเข้าออเดอร์รอบใหม่… แล้วก็ขาดทุนอีกครั้งในที่สุด

Domus

Interlock Modular Construction

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พูดถึง Interlocking Modular ในชิ้นส่วนอาคารและสิ่งก่อสร้างจากวัสดุก่อสร้างหลายแบบทั้งพลาสติก โลหะ และ คอนกรีต… ซึ่งทั้งหมดออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อให้การก่อสร้างอาคารสามารถทำ Off-Site Construction ได้ง่ายขึ้น แข็งแรงขึ้น และ ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้างและการติดตั้งชิ้นส่วนอาคารและสิ่งก่อสร้าง ทั้งหุ่นยนต์… AI หรือแม้แต่ Machine Learning

Accessible Solar Power… พลังงานแสงอาทิตย์ที่เข้าถึงได้โดยทุกคน

กระแสความยั่งยืนทางพลังงานในมิติด้านสิทธิพลเมือง ซึ่งโฟกัสความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เองได้อย่างเสรี ถือเป็นหนึ่งในกระแสสังคมความยั่งยืนที่หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญ และ ผลักดันเป็นนโยบายรัฐ โดยยกระดับเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของชาติ… ซึ่งในอดีตเคยมีนโยบายของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ออกนโยบายควบคุม และ กีดกันการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน โดยอ้างว่าการปล่อนเสรีโซลาร์เซลล์จะบ่อนทำลายความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากกระทบการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบอย่างเพียงพออยู่แล้ว ในขณะที่ศักยภาพของโซลาร์เซลล์จากครัวเรือน หรือ โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือนประชาชนไม่สามารถรับประกันความมั่นคงทางพลังงานได้เหมือนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแบบต่างๆ ที่ส่งมาตามสายส่ง กับ เสาไฟฟ้าที่ปักอยู่ตามริมทาง ซึ่งถนนบางสายมีเสาไฟฟ้ามากกว่าต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียงอย่างเทียบกันไม่ได้

เศรษฐกิจจีนกลางไตรมาส 2… 

17 พฤษภาคม 2023… อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในต่างประเทศ หรือ Offshore Yuan อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับจิตวิทยาที่ 7 CMY/USD มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 7.0076 CMY/USD ซึ่งต่ำสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2022 ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราอ้างอิงของเงินหยวนเอาไว้ที่ 6.9748 CMY/USD เท่านั้น