เทคโนโลยีห้องสะอาดหรือ Clean Room มีใช้มานานในวงการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งการออกแบบและจัดการให้พื้นที่หนึ่งๆ ปราศจากเชื้อโรค ฝุ่นละอองและควบคุมปัจจัยที่ต้องจัดการทั้งหมด อยู่ภายในระบบและการจัดการที่เหมาะสมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่สามารถตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจวัดที่ถูกต้องแม่นยำ จนเชื่อถือได้ว่า พื้นที่นั้นสะอาดเพียงพอต่อวัตถุประสงค์… ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติไม่น้อย เมื่อเราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปจากธรรมชาติและภาวะปกติ
Clean Room มีการใช้งานอย่างกว้างขวางมานานในโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหารและยา โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์และเซมิคอนดักเตอร์ โรงงานพ่นสีรถยนต์,โรงงานผลิตเลนส์… ซึ่งกิจการเหล่านี้ เชื้อโรคและฝุ่นสามารถสร้างความเสียหายให้ได้
คำถามก็คือ… เทคโนโลยีห้องสะอาดแบบต่างๆ ควรถูกพิจารณานำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยได้หรือยัง?
เพราะจริงๆ แล้ว… มนุษย์สร้างที่อยู่อาศัยก็เพื่อต่อสู้กับธรรมชาติ เราออกแบบบ้านให้มีหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนกันลมกันหิมะหรือแม้แต่น้ำค้าง… บ้านในเขตหนาวก็สร้างเตาผิงใส่ไว้ในบ้าน… บ้านเขตร้อนก็เจาะฝาบ้านทำหน้าต่างมันทุกด้านเพื่อถ่ายเทอากาศ
และวันนี้… รอบบ้านในหลายเมืองและหลายพื้นที่ มีภาวะฝุ่นละอองที่เป็นพิษกับชีวิตมนุษย์อย่างกรณี PM 2.5 ที่วนกลับมาเป็นฤดูกาลเหมือนฝนหนาวและลมแล้ง
ประเด็นคือ… ถ้าผมอยากมีบ้านที่มั่นใจว่า ฝุ่นพิษหรือแม้แต่ปัญหาอื่นๆ จากสภาพแวดล้อมของบ้าน ไม่รบกวนหรือคุกคามผม… ผมควรออกแบบบ้านยังไง?
ผมเข้าใจดีว่าการตื่นตูมและเตลิดมาไกลถึงขั้นนี้ ไม่ได้มีแต่ผมคนเดียวที่เชื่อว่าเป็นไปได้ แม้จะมีการหยอกล้อกันระหว่างแลกเปลี่ยนไอเดียด้วยการไล่ให้ไปขุดรูอยู่มาบ้าง… แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ต่างจากการทำบังเกอร์ หรือหลุมหลบภัยในยุคสงครามโลก หรือแม้แต่หลุมหลบภัยกันระเบิดนิวเคลียร์และรังสีแกรมม่าเข้มข้นในทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ หรือห้องใต้ดินในโรงนาเพื่อหนีพายุทอร์นาโดแถว Dakota, Nebraska, Kansas หรือ Oklahoma ที่นักล่าพายุเรียกพื้นที่แถวนั้นว่า Tornado Alleys

กลับมาที่ Clean Room… โดยตัวของเทคโนโลยีแล้วมีหลายแบบหลายระดับมากในทางเทคนิค ซึ่งการออกแบบห้องสะอาดเพื่อการอยู่อาศัยอาจจะไม่เข้มข้นเท่าห้องสะอาดเพื่อกิจกรรมทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรม… แต่ก็ควรมีหลักให้ยึดถือและเชื่อมั่นได้มากกว่าการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาเปิดให้เห็นไฟสีเขียวหรือฟ้าก็โอเคแล้ว… เครื่องฟอกอากาศหลายรุ่น มีการขึ้นไฟแดงหรือม่วงสลับให้เห็นเพื่อบอกว่า กำลังจัดการความสกปรกในอากาศอยู่… คนขี้สงสัยอย่างผมก็งงว่า เครื่องฟอกอากาศที่ดูดลมวนไปวนมาอยู่ในห้อง เจอ PM 2.5 เป็นระยะๆ หมายความว่ายังไง
ยิ่งฟอกอากาศสกปรกยิ่งลอดเข้ามาในห้องเพิ่มได้เรื่อยๆ หรือว่าอากาศสกปรกวิ่งวนไปวนมาผ่านเซนเซอร์เฉยๆ หรือวิศวกรที่ออกแบบเครื่องฟอกอากาศ ทำไฟดิสโก้โชว์แบบหนุกๆ กันน๊ะ
เอาหล่ะไม่ว่าจะยังไง… โดยส่วนตัวผมสนใจการออกแบบห้องสะอาดที่เชื่อถือได้ทั้งการเป็น BCR หรือ Biological Clean Room เพื่อตรวจวัดและควบคุมจุลชีพได้ และ ห้องสะอาดแบบ ICR หรือ Industrial Clean Room ที่โฟกัสฝุ่นละอองและปริมาณก๊าซส่วนผสมในบรรยากาศห้อง
โดยเทคโนโลยี Clean Room สามารถแบ่งเทคนิคออกเป็นสองแนวทางคือ
1. Positive Pressure Clean Room หรือห้องแรงดันบวก โดยทำให้ความดันภายในห้องนั้นๆ สูงกว่าห้องข้างเคียง เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศจากภายนอกไหลเข้ามาในห้อง เพราะอากาศจากภายนอกอาจนำสิ่งแปลกปลอมเข้ามาได้…

2. Negative Pressure Clean Room หรือห้องแรงดันลบ โดยทำให้ความดันภายในห้องนั้นๆ สูงกว่าห้องข้างเคียง… ส่วนใหญ่ออกแบบไว้เพื่อกักกันเชื้อโรคหรือสารเคมีอันตราย ซึ่งการเปิดหรือผ่านประตูทุกครั้ง อากาศด้านนอกจะดันกลับเข้าไปในห้อง
ในบทความนี้ผมจะขอข้าม Clean Room ขั้นสุดที่ต้องใส่หน้ากากและชุด Clean Room เข้าไปใช้ซึ่งมีรายละเอียดทางเทคนิคเฉพาะค่อนข้างมาก และการออกแบบจะเป็นไปตามเงื่อนไขการใช้งานว่าจะโฟกัส BCR หรือ ICR หรือ Mixed
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า… การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้พร้อมปรับเป็น Positive Pressure หรือ Negative Pressure ได้เมื่อต้องการ น่าจะเป็นฟังก์ชั่นการอยู่อาศัยที่ควรพิจารณาได้แล้ว… อย่างน้อยๆ แบรนด์อสังหาที่ใส่ใจเรื่องแบบนี้ ก็น่าจะมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะทั่วไปครับ… อย่ารีบไล่ผมไม่อยู่รูตอนนี้จะขอบพระคุณมาก!… เห็นด้วยเห็นต่าง พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ใน Line: @properea ครับผม