ตลาดทุนในวิกฤตโควิดคราวนี้มีอะไรให้น่าศึกษาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นหลังการแจกจ่ายวัคซีนอย่างวุ่นวายโกลาหลทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อร้ายแรงอย่างโควิดแล้ว ก็ดูเหมือนภูมิต้านทานของนักลงทุนจะกลับเข้าสู่โหมด Risk-On หรือ เปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้งอย่างน่าสนใจ โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกจากแรงซื้อที่เริ่มกลับเข้าตลาดอย่างคึกคัก ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ปิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นไตรมาสที่สองของปี 2021
แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังคงต่ำเตี้ยทั่วโลก ถึงแม้จะเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อก่อตัวอย่างชัดเจน แต่ก็คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ที่จะมีประเทศไหนคิดขึ้นอัตรดิกเบี้ย… กดดันให้เงินลงทุนมองหาเป้าหมายที่เหมาะสมในสถานการณ์ใกล้สิ้นสุดสงครามโควิดอย่างคราวนี้
แต่ไม่ว่าจะดูดีอย่างไร… ดูเหมือนเงินลงทุนที่ Risk-On ในช่วงกลางปี 2021 ก็ยังเคลื่อนไหวแบบชิมลาง จากมูลค่ารวมที่ไม่ได้มากมายจนน่าตื่นเต้นอะไรนัก เพียงแต่เป็นความคึกคักเมื่อเทียบกับช่วงซบเซาที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดทุนเท่านั้น เพราะยังไงๆ ตลาดหุ้นก็ยังเสี่ยงสูง ในขณะที่ตลาดพันธบัติก็ให้ผลตอบแทนน้อยนิด… ส่วนตลาดคริปโตก็กำลังเจอมรสุมปลายดอย และ การรุกกลับของธนาคารกลางแทบจะทั่วโลก ที่ไม่สามารถปล่อยให้คริปโตไร้สัญชาติเติบใหญ่กว่านี้ได้… แถมด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ก่อตัวเข้มข้นทั่วโลกพร้อมกัน ไปยืนรอการเดินเครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตอยู่ก่อนแล้ว… นักลงทุนที่เข้าโหมด Risk-On ไปแล้วจึงมองหาตลาด และ โอกาสที่ยังแวววาวอยู่ในตอนนี้… ซึ่งก็คือตลาดตราสารหนี้ของจีน
หัวข้อสนทนา และ กระทู้เรื่องตราสารหนี้จีน กับ กองทุนตราสารหนี้จีนจึงคึกคักขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยมุ่งเป้าไปที่การลงทุนในตราสารหนี้จีนที่อำนวยการโดยธนาคารของรัฐ กับ ตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจในประเทศจีน รวมทั้งตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อันดับเครดิตอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
ซึ่งจุดเด่นของตลาดพันธบัตร และ ตราสารหนี้จีนเมื่อเทียบกับตราสารหนี้จากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างชัดเจนคือ อัตราการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก เพราะผู้ออกตราสารหนี้จำนวนมากเป็นกิจการในกำกับของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจจีนซึ่งมีมากกว่า 154,000 แห่ง ซึ่งได้รับการค้ำประกันแฝง หรือ Implicit Guarantee โดยรัฐผ่านกลไกการจัดการเชิงนโยบายอย่างชัดเจน
ข้อมูลจากคอลัมน์ INVESTMENT JOURNEY โดยคุณดารบุษป์ ปภาพจน์ ผ่านเวบไซต์กรุงเทพธุรกิจระบุว่า… ตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงของจีน หรือ High Yield Bond มีอัตราการผิดนัดชำระต่ำเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงของเอเชียผิดนัดชำระที่ 3.0% และ ของสหรัฐอเมริกาผิดนัดชำระที่ 6.5%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาคเอกชนจีนมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 6-7% ต่อปีในรูปสกุลเงินหยวนตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา… แต่สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% ของปริมาณตราสารหนี้ทั้งหมด… ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ เข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีนไม่มากนักก็เนื่องมาจาก นโยบายควบคุมการไหลเข้าออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ซึ่งก็ได้มีการเริ่มผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง และมีการผ่อนคลายอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งในปี 2020… ผ่านนโยบาย Bond Connect ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถซื้อขายตราสารหนี้สกุลเงินหยวนที่เสนอขายในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวก โดยทำผ่านแพลตฟอร์มในฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้จีนที่อยู่ในสกุลเงินหยวนในประเทศจีนได้มากขึ้น
ในทางเทคนิค… การลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีนจากประเทศไทยจะทำผ่านกองทุนรวมเป็นส่วนใหญ่… ท่านที่สนใจลงทุนกรุณาสอบถามและศึกษาเพิ่มเติมกับเอกสารชี้ชวนของกองทุนอย่างรอบคอบด้วยตัวท่านเองจะดีที่สุด ส่วนมืออาชีพขั้นโยกย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้เอง… ผมไม่มีอะไรจะแนะนำเพิ่มหรอกครับ
References…