ผมค้นข้อมูลเชียงรายมาหลายวัน เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูล update ที่สุด ไม่ใช่เพราะ ครม. สัญจร หรือดอยนางนอน หรือทีมฟุตบอลหรอกน๊ะครับ แต่เพราะเชียงรายในทัศนผม มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยก้าวสู่การเป็นเมืองระดับอาเซียน… ซึ่งมีอะไรพิเศษในตัวมากกว่าการเป็นจังหวัดชายแดนเหนือสุดแดนสยามมากมายนัก
ผมได้เอกสารชื่อ แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2561-2564 หนาสองร้อยกว่าหน้า… ข้อมูลละเอียดยิบ! ที่มีแต่สุดยอดผู้ว่าฯ อย่างคุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เท่านั้นที่จะพาคนทั้งจังหวัดงัดข้อมูลขนาดนี้ออกมาได้… แค่ไล่ดูสารบัญและเจาะอ่านเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในแผนก็ไม่มีคำบรรยายแล้วครับ!!!
ย้อนความนิดนึงครับ… ปลายปี 2558 คณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้ประกาศให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 10 พื้นที่ โดยทำการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 5 พื้นที่ ได้แก่ ตราด ตาก มุกดาหาร สระแก้ว และสงขลา
ระยะที่ 2 ประกอบด้วย หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี
ซึ่งพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในแผนการพัฒนาจะได้รับทั้งสิทธิประโยชน์จากหลากหลายหน่วยงานในหลากหลายด้าน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพากร ด่านศุลกากร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
ซึ่งคลอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ และการขยายกิจการในระยะยาว (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559) โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีกลยุทธ์ 4 ประการ ได้แก่
- การสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่
- การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
- การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลาง
- จัดระเบียบพื้นที่ชายแดน
ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการเคลื่อนย้ายสินค้าและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
…ถึงตรงนี้ ผมจะเอาข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเชียงรายมาคลี่ดูแบบบูรณาการพอให้ได้ภาพและแนวคิดก็แล้วกันน๊ะครับ
ประเด็นแรก… เชียงรายมีสนามบินแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สนามบินที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานตามนโยบายของรัฐบาล ผมมองว่า ต่อให้สนามบินแม่ฟ้าหลวงไม่ได้รับเลือกในท้ายที่สุด แต่เชียงรายย่อมเลื่อนชั้นไปถึงการเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติในเร็ววันนี้แน่นอน
ประเด็นที่สอง… มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังขึ้นชั้นมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรอินเตอร์ที่จะก้าวไปได้ไกลพอที่จะเปิดรับนักศึกษาจากเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า จีนได้แบบสบายๆ …ที่จริงก็รับนักศึกษาได้ทั่วโลกอยู่แล้วหล่ะครับในปัจจุบัน
ถนน R3A… เชียงราย – เชียงของ – บ่อแก้ว – หลวงน้ำทา – บ่อเต็น – บ่อหาน – เชียงรุ้ง – คุนหมิง ซึ่งปัจจุบันสมาชิกหอการค้าเชียงรายที่ค้าขายกับจีน ใช้ถนนเส้นนี้ขนส่งสินค้าทุกวันอยู่
ถนน R3B… เชียงราย – แม่จัน – ท่าขี้เหล็ก – เชียงตุง – ต้าล่อ – เชียงรุ้ง – คุนหมิง ซึ่งปัจจุบันถนน R3B ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงเส้นทางในพม่าครับ
รถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ… ระยะทาง 326 กิโลเมตร เวนคืนที่ดิน 9,600 ไร่ เริ่มดำเนินก่อสร้างตามแผน 4 ตอนระยะเวลา 6 ปี ของการรถไฟฯ ไปแล้วครับ
แม่น้ำกกและแม่น้ำโขง… แม่น้ำโขงช่วงจังหวัดเชียงราย สวย ร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบล ครับ! ที่นี่… แผนการผลิตพืชอาหารคุณภาพสูงในแผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2561-2564 มีบรรจุไว้ตั้งแต่ริมตลิ่ถึงปลายดอยทีเดียว ผมยังทราบมาว่า ธุรกิจค้าข้าวระดับพรีเมี่ยมเข้ามาจับจองพื้นที่หลายร้อยไร่ผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งส่งออก ทั้งขายส่งโรงแรมและภัตตาคารเกรดพรีเมี่ยมคลุมตลาดไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น
ธุรกิจท่องเที่ยวแข็งแกร่ง… แม้ชื่อชั้นการท่องเที่ยวเชียงรายจะยังเทียบเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยาไม่ได้ แต่ถ้ามองตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศที่ผมมองว่า ยั่งยืนและไม่อ่อนไหวเหมือนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เชียงรายมีผู้คนต่างถิ่นเดินทางเข้าออกแบบที่ไม่มีใครกล้าเรียกการไปเชียงรายว่าเป็นการไปแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองมานานแล้ว… แค่วัดร่องขุ่น กับถ้ำหลวง คนไทยค่อนประเทศคงอยากไปทั้งนั้น
… เรื่องของเชียงรายผมนั่งเล่าได้เป็นวัน
ทั้งหมดที่ว่ามา ผมเพียงแต่จะชี้เป้าว่า เชียงรายมีอนาคตที่อลังการมากมายในโอกาสอันใกล้นี้ แน่นอนว่า อสังหาริมทรัพย์ที่นี่ ปรับราคาสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่อื่นๆ ชนิดที่คอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าในเมืองหลวงบางทำเลยังทำไม่ได้เลยครับ
…แต่!!!
เชียงรายเป็นเมืองที่โตแปลกๆ ในสายตาผม เพราะการเติมโตในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย มีอัตราใกล้เคียงกับจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ แต่การเติบโต โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ กลับเพิ่มขึ้นมากในเขตอำเภอ โดยเฉพาะ 3 อำเภอยุทธศาสตร์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
… แม่สาย เชียงแสน เชียงของ ครับ!
ข้อมูลอ้างอิง - แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2561-2564 - เอกสารจาก โครงการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (Office of Border Economy and Logistics Study: OBELS) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง - กรมประชาสัมพันธ์, 2558
ขอบคุณภาพจาก OBELS