เมื่อช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา ผมเจอคำโปรยจากบทความในเวบไซด์ nisitjournal.press ซึ่งเป็นสื่อฝึกปฏิบัติของนิสิตสาขาวิชาเอกและโทวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย SIRAROM TECHASRIAMORNRAT เผยแพร่วันที่ 5 สิงหาคม 2018 โดยพาดหัวหรือ Title ว่า “ผังเมืองแปดริ้ว เมื่อฝันทลายใต้มือ คสช”
ผมบุ๊คมาร์คเอาไว้ ทั้งที่ตอนนั้นโปรเจค properea ยังอยู่ระหว่างวางแผน และกะว่า ผมอาจจะใช้ข้อมูลนี้ทำบทความปฐมฤกษ์
ผมรู้จักแปดริ้วหรือฉะเชิงเทรามานาน หลวงพ่อโสธรผมแวะกราบไหว้ทุกปีไม่ขาดสมัยทำงานและอาศัยอยู่กรุงเทพ แม่น้ำบางปะกงผมเคยขับรถข้ามทุกสะพานในเมืองแปดริ้ว ผมเคยซื้อขายที่ดินสองสามแปลงในแปดริ้วเมื่อหลายปีก่อน
ผมจึงรู้ว่า ความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดินในพื้นที่แปดริ้ว มีการพูดคุยถกเถียงและขัดแย้งกันมายาวนาน นากุ้งกับนาข้าวทะเลาะกัน นาข้าวกับโรงงานร้องเรียนกัน และอะไรอีกมากมายที่คนแปดริ้วจะทะเลาะกันไปและทำมาหากินกันไป
กลับมาที่ผังเมืองแปดริ้ว ถ้าหากผังเมืองแปดริ้วเป็นคน กว่าจะเดินหน้ามาจนถึงวันที่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราอย่างเป็นทางการก็นับว่าเติบโตเสียข้าวสุกข้าวสารมาไม่น้อย ชาวแปดริ้วช่วยกันทุกเวทีของการกำหนดผังเมือง กระทั่ง 3 พฤษภาคม 2556 กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้เวลาจัดทำกว่า 10 ปี โดยมีสมัชชาแปดริ้ว เมืองยั่งยืน และชาวฉะเชิงเทราเป็นผู้ให้ข้อมูลและแสดงความต้องการต่อการจัดแบ่งประเภทพื้นที่ โดย ออกกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2555
…วันที่ 20 มกราคม 2559 เหมือนมีเรื่องราวพลิกกลับบนแผ่นดินแปดริ้ว เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท กล่าวโดยสรุปก็คือ ประกาศดังกล่าวมีผลให้ระงับการประกาศใช้ผังเมืองในฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ไว้ก่อน
สาเหตุที่รัฐบาลประกาศหยุดใช้ผังเมือง ทั้งๆ ที่พึ่งจะนำมาใช้ได้ไม่นาน เพราะการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ระดับเมกะของเมกะโปรเจกต์อย่างโครงการ EEC ที่มุ่งจะพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อปี 2525 เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างกว้างขวาง แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนพื้นที่อย่างใหญ่หลวง
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นสำหรับโครงการ EEC โดยมิให้นํากฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับ
นอกจากการประกาศครั้งนี้จะทำให้ผังเมืองถูกระงับใช้แล้ว การจัดทำผังเมืองรวมฉะเชิงเทราตามทิศทางที่ภาคประชาสังคมและประชาชนร่วมจัดทำก็ต้องยุติลงโดยสิ้นเชิง เพื่อลั่นระฆังให้เริ่มจัดทำผังเมืองที่ตอบโจทย์การพัฒนาโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ
การทำผังเมือง EEC
กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้ข้อมูลในเวทีสาธารณะ “แปดริ้วผังเมืองเพื่อแปดริ้วเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เกี่ยวกับผังเมือง EEC ซึ่งกำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในขณะนี้ไว้ว่า แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การจัดทำผังเมือง EEC กรมโยธาธิการและผังเมืองรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำผังเมือง EEC หรือผังเมืองรวม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ตามกำหนดของ พรบ. EEC ผังเมืองรวม 3 จังหวัดนี้จะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจะบังคับใช้ทั่วเขตแดนของทั้ง 3 จังหวัด มีผลให้ทุกจังหวัดต้องปฏิบัติตาม
มนตรี ศักดิ์เมือง ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง (นักผังเมืองทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในเวทีสาธารณะฯ ว่า “ผังเมือง EEC จะมีการเข้ามามีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เพียงแต่คงไม่สามารถทำได้มากเหมือนกระบวนการจัดทำผังเมืองปกติ เนื่องจากเวลาที่ค่อนข้างจำกัด”
ระยะที่ 2 การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดและชุมชนตามผังเมือง EEC เมื่อผังเมือง EEC ถูกบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ละกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดและผังเมืองรวมชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับผังเมือง EEC
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยอ้างคำพูดของ มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า “รัฐมีคำสั่ง ม.44 ให้กรมและ สกรศ. เร่งจัดทำผัง EEC ให้เสร็จใน 6 เดือน โดยลดขั้นตอนการดำเนินการจัดทำผังให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมจะใช้เวลา 1 ปี ให้การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แม้ผังจะเป็นการออกโดยกระบวนการพิเศษแต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย” หากเป็นไปตามกำหนด ผังเมือง EEC ต้องแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2561 นี้
ใครได้ประโยชน์จากผังเมือง EEC
หลังจากการเข้ามาของ EEC และการประกาศหยุดผังเมืองรวมจังหวัดเดิม ส่งผลให้ราคาที่ดินบริเวณ 3 จังหวัดพุ่งสูงขึ้น รวมถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ว่า วัฒนา รัตนวงศ์ ประธานหอการค้า จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศพัฒนา EEC การซื้อขายที่ดินในฉะเชิงเทราคึกคักขึ้น และราคาที่ดินก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 50% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในเขตผังเมืองพื้นที่สีเขียว จึงไม่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมมากนัก จะถูกนำมาพัฒนาเป็นเมืองสำหรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยมากกว่า โดยเฉพาะในเขตตัวเมือง ครอบคลุมอำเภอเมือง บ้านโพธิ์ และบางคล้า
ส่วน วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น ก็ได้เปิดเผยต่อประชาชาติธุรกิจในรายงานชิ้นเดียวกันว่า ตั้งแต่รัฐบาลประกาศผลักดันโครงการ EEC ราคาซื้อขายที่ดินในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของอมตะ มีกำไรจากการซื้อขายที่ดินราว 1,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายรัฐเรื่องพื้นที่ EEC ทำให้มูลค่าการซื้อขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสูงขึ้นตามไปด้วย
ความกังวลของชาวแปดริ้ว
กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เผยความกังวลต่อการเปลี่ยนทิศทางของผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับผังเมือง EEC ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การละเลยพื้นที่การเกษตรและนโยบายความมั่นคงทางอาหาร การดูแลชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และการแก้ปัญหาการจัดการน้ำและมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม กัญจน์เล่าว่า
…เรื่องที่หนึ่ง คือ EEC ไม่เคยพูดเรื่องศักยภาพของพื้นที่ฉะเชิงเทรา ในฐานะพื้นที่ทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร แต่พูดถึงแค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 การปรับพื้นที่ผังเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมตามแนวทางของ EEC จึงอาจละเลยศักยภาพของพื้นที่
…ประเด็นที่สอง คือ EEC ไม่เคยพูดถึงชุมชนที่มีอยู่เดิมและการดูแล พูดถึงแค่เรื่องการพัฒนาเมืองใหม่การพัฒนา เขาเห็นว่าควรจะพัฒนาจากเมืองที่มีคนอยู่ก่อน ดูแลท้องถิ่นเดิม แล้วค่อยไปสร้างเมืองใหม่
…ประเด็นที่สาม คือ EEC ไม่ได้พูดถึงศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเดิม ทั้งเรื่องทรัพยากรน้ำซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องน้ำแล้งและน้ำท่วม และเรื่องของการรองรับมลพิษเดิมจากเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
“เรากังวลว่าปัญหาเก่ายังไม่ได้ถูกจัดการให้เรียบร้อยเลย แล้วจะมีปัญหาใหม่มาอีกหรือไม่ เพราะเมื่อคราว Eastern Seaboard สร้างทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่นำไปสู่การล่มสลายของทรัพยากรในพื้นที่” กัญจน์กล่าว
ครับ! บางส่วนของบทความนี้ผมยกเอาที่คุณ SIRAROM TECHASRIAMORNRAT เขียนไว้ใน nisitjournal.press มาเติมให้อ่านครับ...
สำหรับความเห็นส่วนตัวผม มิติอสังหาริมทรัพย์ในแปดริ้ว สีสันของราคาและมูลค่ายังไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งของภาคประชาสังคมกับรัฐว่าด้วยการกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินผ่านกฏหมายผังเมือง ก็คงยังอยู่กับที่ราบปากแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ไปอีกนาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน มหาดไทยหรือ คสช. หรือ EEC ชาวแปดริ้วไม่กังวลที่จะตามหาความชอบธรรมให้ชุมชนตัวเองอีกนานครับ
… แต่คนแปดริ้ว คงรวยขึ้นอีกเยอะหล่ะ กับ EEC