ข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร ของธนาคารกรุงไทย ครั้งละ 10 บาทต่อธุรกรรมในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนและลูกค้าธนาคารค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่ “คุ้นชิน” กับการเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงิน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งนำไปสู่การ “พับแผน” การเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวไว้ชั่วคราว และ กลับมาทบทวนแผนการเก็บธรรมเนียมต่างๆ ใหม่ในอนาคต
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่า… ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการยกระดับให้เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ให้เป็นช่องทางหลักของประชาชน เพื่อมุ่งหวังในการ “ลดใช้เงินสด”ในระยะยาว ภายใต้แผนชำระเงินปี พ.ศ. 2565-2567… โดยหนึ่งในเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ การพิจารณาทบทวน “โครงสร้างค่าธรรมเนียม” ของทั้งระบบในรูปแบบต่างๆ ทั้งเงินสด เช็ค และบริการชำระเงินดิจิทัลให้เหมาะสม… ภายใต้หลักการการสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินได้ทั่วถึง สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม
ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาวางแนวทางปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ของทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับหลักการและเป็นสากลมากขึ้น โดยจะมีการพิจารณากับผู้เกี่ยวข้อง และ นำมาใช้เป็นแนวทางให้สถาบันการเงินปรับใช้ต่อไป
ด้านคุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า… การพิจารณาปรับ “โครงสร้างค่าธรรมเนียม” ของระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันในสมาคมธนาคาร ซึ่งจะพยายามให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนให้เร็วที่สุด… สำหรับการ “ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม” ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะทุกอย่างคือต้นทุนของระบบการเงิน ต้นทุนของระบบแบงก์ การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปรับเพื่อเน้นการทำกำไร แต่เกี่ยวกับต้นทุนที่ระบบต้องแบกรับค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ทั้งการขนเงิน การรักษา ค่าขนส่ง ค่าเช่าตึกต่างๆ อีกทั้ง ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเดียว ที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมบนดิจิทัลเพย์เมนท์ หรือ บนการทำธุรกรรมทางการเงิน สวนทางกับต่างประเทศ ที่ลูกค้าธนาคารมีต้นทุน ในการทำธุรกรรมทางการเงิน… ความบิดเบี้ยวของโครงสร้างค่าธรรมเนียม ที่วันนี้ จึงสร้างต้นทุนให้กับระบบการเงิน ระบบแบงก์… ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวที่ฟรีระบบดิจิทัลเพย์เมนท์ แต่แหล่านี้เป็นต้นทุนของแบงก์ เพราะเหล่านี้คือ อินฟราสตรัคเจอร์ของประเทศ แต่คำถามคือ คนใช้ไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้ใช้… ยกตัวอย่างการให้บริการผ่านสาขาซึ่งจะมีต้นทุนตั้งแต่ค่าเช่าตึก ค่าขนเงิน ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนของแบงก์ทั้งสิ้น ขณะที่ Price to Book Bank วันนี้ต่ำเพียง 0.6-0.7% เพราะไม่ได้มีมาร์จิ้นใหญ่ขนาดนั้น
ส่วนคำถามที่ว่า… ท้ายที่สุดแล้วต้องกลับไปเก็บค่าธรรมเนียมบนธุรกรรมเงินสดหรือไม่ เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด… กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย อธิบายว่า ก็ต้องกลับไปพิจารณาในการเก็บอยู่แล้ว เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะสิ่งที่พยายามทำวันนี้คือ พยายามลดการใช้เงินสด… การพิจารณาการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพิจารณา และ ต้องดูโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งหมด ไม่ได้ดูเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม… การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม จะต้องปรับให้เกิดความสมดุล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบของผู้บริโภคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อีกทั้งการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมในอนาคต ยังต้องคำนึงถึง องคาพยพโดยรวม ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิม ระบบใหม่ เพราะทั้งหมดเชื่อมโยงกับการปรับโครงสร้างระบบการเงินในระยะข้างหน้า เพราะสิ่งที่แบงก์มีอยู่เดิม เช่น ระบบโครงสร้างเดิม ที่ถือเป็นต้นทุนแบงก์ แล ะการเข้าถึงของผู้บริโภคลดลงเรื่อยๆ เหล่านี้แบงก์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับระบบสูงสุด… ก็ต้องกลับมาพิจารณาโครงสร้างค่าธรรมเนียม เพราะสิ่งที่แบงก์ทำวันนี้คือ พยายามลดการขนเงินสด และ ต้นทุนเงินสดต่างๆ ของระบบ ของธนาคารพาณิชย์ โดยพยายามเอารายได้อื่นๆ มาโปะตัวนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงสร้างรายได้ โครงสร้างค่าธรรมเนียมบิดเบี้ยว ดังนั้นเราอยู่ระหว่างการหารือปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลย์มากขึ้น
ขอบคุณสำนวนข่าวต้นฉบับจาก Bangkokbiznews.com