ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพืชเศรษฐกิจหลายตัวผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศมานาน แต่ในระยะหลังๆ มานี้ สินค้าเกษตรหลายตัวขาดศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้าว
ประเทศไทยส่งออกข้าวในปริมาณที่น้อยกว่าอินเดียมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้บางฝ่ายที่รายงานสถิติ จะพยายามเอา “มูลค่าการส่งออกข้าว” มายันอันดับแทนการเอา “ปริมาณผลผลิตที่ส่งออก” มาเทียบเคียง เพื่อปลอบใจกันว่าข้าวเราขายได้แพงกว่า คุณภาพดีกว่า ส่งออกในปริมาณน้อยกว่าแต่ได้ราคาดีกว่า
แต่ข้อเท็จจริงก็อย่างที่รู้ๆ กันคือ อันดับการส่งออกข้าวของไทยสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมาหลุดไปอยู่อันดับสามเรียบร้อย… ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งอย่างอินเดียสามารถดันผลผลิตราคาต่ำกว่าออกมาขายแข่งแบบยังไม่ได้ออกแรงด้วยซ้ำ แถมในปี 2021 นี้… รัฐบาลอินเดียมีนโยบายขายข้าวราคาถูกให้ประชาชนแบบคนละราคากับที่ส่งออก… ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสินค้าเกษตรส่งออกบางท่านที่ผมได้คุยด้วยฟันธงว่า… อินเดียเผลอทำสต๊อกข้าวราคาถูกในประเทศ หลุดออกต่างประเทศถล่มคู่แข่งแน่ๆ
ข้าวส่งออกของไทยจึงเข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเอาตัวเลขอะไรมาดูก็คงสู้เขาไม่ได้แล้ว… การมองหาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่จะเอามาช่วยดันตัวเลข GDP ทดแทนพืชเศรษฐกิจหลักตัวเก่าอย่างข้าว ยางพาราและพืชไร่อีกมากนั้น… จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับหลายๆ ฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันให้เร็วและเข้มแข็งกว่าที่เป็นมา… โดยเฉพาะการผลักดันกัญชาและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากกัญชาที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมาก
มกราคม ปี 2020… ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับศักยภาพของกัญชาในฐานะพืชเศรษบกิจตัวใหม่ โดยเผยแพร่เป็นบทความในหัวข้อ “กัญชา” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่? หลังจากที่ความชัดเจนเรื่องการอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการอนุญาตให้สามารถนำบางส่วนของพืชกัญชา มาเป็นวัตถุในอาหารและเครื่องดื่มได้… ซึ่งทั้งหมดเป็นทิศทางและแนวโน้มระดับโลกตลอดสองสามปีก่อนหน้านั้น…
ปัจจุบัน… หลายประเทศได้รับรองและอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการอนุญาต ได้แก่
- ประเทศที่รับรองและอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์… มี 33 ประเทศ
- ประเทศที่รับรองและอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ… มี 6 ประเทศ
- ประเทศที่รับรองและอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างเสรี… มี 3 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย… ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์… ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 มาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019
จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า… มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024… แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีกร้อยละ 40 เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มทุนอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก สนใจการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของตนอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การคาดการณ์ความต้องการในเบื้องหน้า มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา จะเติบโตและกระจายในหลายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน… ตลาดกัญชาถูกกฎหมายของประเทศไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และ แม้จะมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ… หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือ ระยะประคับประคอง หรือ Palliative Care จะมีสัดส่วนราวร้อยละ 60-80 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด โดยมีมูลค่าประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี
หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และ มีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทในปี 2021… แม้จะยังมีมูลค่าทางการตลาดน้อยนิดด้วยสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังไม่สามารถประเมินมูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยในระยะกลางถึงยาวได้ เพราะต้องรอผลตอบรับยืนยันผลการการใช้ในทางคลินิคที่ชัดเจนก่อน… โดยประเด็นที่สามารถชี้ขาดอนาคตของกัญชาทางการแพทย์ก็คือ ผลการใช้กัญชาช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้นอย่างชัดเจน ก็จะทำให้มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น… ในทางตรงกันข้าม หากผลการใช้กัญชาไม่ได้ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือแตกต่างไปจากเดิม มูลค่าตลาดกัญชาทางการแพทย์ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด
อนึ่ง… ในกรณีที่ผลการใช้กัญชาช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้นอย่างชัดเจน… ตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉพาะสำหรับดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือ ระยะประคับประคอง หรือ Palliative Care ในหลายสิบประเทศที่รับรองและอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์… อาจหมายถึงโอกาสที่กัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ถึงขั้นขับเคลื่อน GDP เป็นเลขเต็มจำนวนของไทยก็เป็นได้… ยิ่งเมื่อเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่สูงระดับแสนล้านบาทต่อปี… โอกาสของกัญชาจึงเหลือทั้งกว้างและยาวไกลอีกแสนไกลสุดท้าทาย
ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าอ่อนซ้อมและหน่อมแหน้มทำเป็นแต่ตั้งด่านตรวจจับกินหัวคิวอย่างเดียวก็พอ… ในมือผมตอนนี้มีข้อมูลการเคลื่อนไหวของกองทุนขนาดใหญ่ ที่มองหาการลงทุนบนโอกาสของกัญชาเคลื่อนไหวกันคึกคักมาก… ท่านที่สนใจลงทุนลองปรึกษาไปทางคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ที่ Jitta ดูก่อนก็ได้ครับ… ผมเห็นมีกองทุนกัญชาในจิตตะของแกอยู่… ไม่ได้ค่าโฆษณามาพูดถึงหรอกน๊ะครับ แต่ผมเห็นว่ามันเป็นโอกาสของคนไทย… หรือ อยากตะลุยกองทุนกัญชาในต่างประเทศ ทักผมมาทางไลน์ส่วนตัวที่ ID: dr.thum ก็ได้ครับ…
References…