ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน มีตัวเลขผลผลิตรวมในอุตสาหกรรมอาหารปี 2559 มีปริมาณ 29,785,234 ตัน ซึ่งก็ใกล้เคียงกับ “ค่าประมาณ” ที่คนระดับนโยบายด้านอุตสาหกรรมอาหารใช้อ้างอิงพูดคุยช่วงปี 2018–2020 โดยใช้ตัวเลข 30 ล้านตันบวกลบ ซึ่งรายละเอียดว่า ผลิตสินค้าอาหารหมวดไหนไปขายใคร ได้แค่ไหน… ผมจะขอข้ามไปในบทความชุดนี้ เพราะตัวเลขรายงานเชิงสถิติ จะมีประโยชน์เป็นรายกรณีและต้องการรายละเอียดค่อนข้างสูง จึงจะเป็นประโยชน์
ส่วนประเด็นที่จะบอกเล่าพูดคุยวันนี้ ผมจะพาไปดูมิติต่างๆ ในการพัฒนาสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาด ซึ่งมีแง่มุมรายละเอียดที่ส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้ว สำหรับคนทำอาหารขายทุกระดับ… แต่ประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ผมได้สัมผัสกับผู้ผลิตหรือแปรรูปอาหาร หรือแม้แต่ร้านอาหารรายกลางและรายย่อย มักจะขับเคลื่อนสินค้าและธุรกิจอาหารของตนได้ดีในบางมิติเท่านั้น… วันนี้ก็เลยถือโอกาสรวบรวม “สิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้ว มาเล่าซ้ำย้ำอีก” ให้เห็นความสำคัญ เมื่อต้องขับเคลื่อนสินค้าหรือธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารทุกรูปแบบ… และผมคัดมาแนะนำ 7 แง่มุมดังนี้ครับ
1. อาหารต้องรสชาติดี
คนส่วนใหญ่เลือกกินอาหารตามรสชาติที่ชื่นชอบ การจะทำอาหารขายจึงต้องโฟกัสลูกค้า และรู้จัก “รสชาติ” ที่ลูกค้าชื่นชอบ จะเป็นหรือเรียกรสชาติอร่อย หรือรสชาติสะใจ หรือรสชาติดั้งเดิม… ก็ว่ากันตามความต้องการของลูกค้า
2. อาหารต้องรูปลักษณ์ดึงดูดเชิญชวน
อาหารแต่ละเมนู จะมีรูปแบบที่สามารถประดิษฐ์และสร้างสรรค์ ให้ดึงดูดเชิญชวนตั้งแต่แลเห็นได้ หลายกรณีจากหลายเมนู จำเป็นต้องเสกสรรผ่านวิธีคิดของการเติมเสน่ห์ให้น่ามองและน่าลอง… ซึ่งก็ไม่มีกฏหรือคำแนะนำใดอีกนอกจากสร้างสรรค์ให้มาก
3. อาหารต้องมีความแปลกใหม่
คนส่วนใหญ่เลือกกินอาหารจากเมนูที่คุ้นเคย ซึ่งการใส่ “ความแปลกใหม่ให้ต่างออกไป” ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถเปลี่ยนเมนูพื้นฐาน หรือสินค้าอาหารแปรรูปธรรมดา ให้กลายเป็นสินค้าอาหารสุดพิเศษขึ้นมาได้… กรณีการเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวไซส์ใหญ่พิเศษ ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการใส่ความแปลกใหม่ให้เมนูธรรมดา โดดเด่นขึ้นมาได้ง่ายๆ วิธีหนึ่ง
4. อาหารต้องเป็นที่ชื่นชอบและพึงพอใจของลูกค้า
คำว่า “ชื่นชอบและพึงพอใจ” เป็นคำใหญ่และสำคัญมากในทางการตลาด… หลายกรณีไม่เกี่ยวกับรสชาติหรือรูปลักษณ์และจิตวิทยาการกินเลยก็มี… ตัวอย่างเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานร้านอาหาร หรือตำนานเมนู ความสะอาด บรรยากาศและรูปแบบการเสิร์ฟ หรือการกิน… ซึ่งการเข้าถึงความชื่นชอบและพึงพอใจส่วนใหญ่จะหมายถึงการซื้อซ้ำ หรือ การเป็น Loyal Customer ในแทบทุกกรณี
5. อาหารต้องไม่ใช้เวลาของลูกค้า
อาหารรอนานและยุ่งยากกว่าจะได้กิน กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นในวันที่โลกหมุนเร็ว และมีเวลามีน้อยลง… แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารก็คือ หลายเมนูมีขั้นตอนและพิธีรีตองกว่าจะได้อาหารพร้อมกิน ซึ่งพิธีรีตองและขั้นตอนเหล่านี้เอง ที่หมายถึงช่องว่างในธุรกิจอาหารที่ต้องบีบเวลาและส่งมอบอาหารพร้อมกินที่สุด แลกกับความสุขใจที่จะจ่ายของลูกค้าจนกลายเป็นธุรกิจ
6. ทำธุรกิจอาหารต้องเท่าทันกระแสนิยม
คำว่ากระแสในที่นี้คือ “ทิศทางแนวโน้ม” ที่ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ กำลังเทรนดิ้ง หรือ Trending อยู่กับแนวโน้มแบบไหน… มันน้อย หวานไม่มาก โซเดียมเป็นศูนย์ ออแกนิคแท้ หรือภาษีความหวานกำลังมา หรือแม้แต่ การงดแจกถุงหรือเสิร์ฟพร้อมหลอดพลาสติก… ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งตามกระแสและทวนกระแส เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดให้ลูกค้าคิดถึงก่อนเมื่อ “ช่วงเวลาหิว” ของลูกค้ามาถึง
7. เอกลักษณ์และเรื่องเล่า
ซึ่งเรื่องเล่าที่มาพร้อมเอกลักษณ์ ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทุกวงการยอมรับเหมือนกันหมดว่า… ยั่งยืนและโดดเด่นที่สุด… การเอาเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ความเป็นอาหารพื้นถิ่น อาหารในตำนาน หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมนูที่ผู้คนจดจำได้ เล่าต่อก็สนุก… สามารถช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างดีเยี่ยมทั้งสิ้น



เบื้องต้นประมาณนี้ครับ… ขาดองค์ประกอบไหน หรือขับเคลื่อนองค์ประกอบไหนให้โดดเด่นกว่าเดิมได้ ลองพิจารณากันดูครับ!!!