ในบรรดาแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ Stimulus Package ของรัฐบาลไทย เพื่อต่อสู้กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีแต่รัฐบาลเท่านั้น ที่เหลือพลังพอจะบรรเทาสถานการณ์ในวิกฤตนี้ได้… กรณีช่วย 5,000 บาทสามเดือนหกเดือน หรือช่วยผู้สูงอายุและเกษตรกร รวมทั้งแพ็คเกจช่วยลูกจ้างประกันสังคม ให้ตกหล่นน้อยที่สุด เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายคนส่วนใหญ่ให้อยู่บ้าน ดีกว่าจะออกมารับเชื้อแพร่เชื้อและรัฐต้องจ่ายค่ารักษาอยู่ดี แถมไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
มุมมองของผมต้องเรียนตามตรงว่า เห็นด้วยกับการพยุงสถานการณ์ด้วยการดูแลคนส่วนใหญ่ที่ไม่ป่วยและให้ความร่วมมือในภาวะยุ่งยากนี้
ยิ่งได้ข่าวหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หาทางผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จนหาวงเงินเตรียมไว้อีกทางหนึ่งกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยสถานประกอบการ ที่อาจจะขาดสภาพคล่องในช่วงนี้ ให้ยังเหลือกำลังจ้างงานพอที่จะไม่ปล่อยลูกจ้างมาเพิ่มตัวเลขผู้ตกงานให้มากขึ้น
ในทัศนะของผมแม้จะมองว่า แพ็ตเกจช่วยผู้ประกอบการถึงวันนี้ ดูจะน้อยไปหน่อยแต่ก็เข้าใจความยากลำบากในการจัดการ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านต่างก็ทราบดีอยู่แล้วว่า การพยุงตัวเลขคนมีงานทำเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งข่าวในมือผมก็มีความพยายามในหลายๆ แนวทาง… และส่งกำลังใจถึงทุกท่านที่ดูแลบ้านเมืองและพวกเราอยู่… ไม่ดีหมด ไม่ครบหมด แต่ก็ขอบคุณทุกความพยายามครับ
กรณีกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม กับโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท จะเป็นสินเชื่อเพื่อ Refinance ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ของแต่ละธนาคาร… หรือครึ่งหนึ่งของวงเงินเครดิตที่ธนาคารอนุมัติให้ผู้ประกอบการก่อนหน้านี้ในภาวะปกติ ที่ใช้หมุนเวียนทำธุรกิจ… โดยมีระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ตั้งแต่ เริ่มโครงการจนถึง 31 ธันวาคม 2563…
หรือจนกว่าวงเงินโครงการนี้จะหมด โดยวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จำนวน 30,000 ล้านบาท มีการจัดสรรเป็น 3 กองได้แก่
1. วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ต่อรายสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน… วงเงินรวม 18,000 ล้านบาท
2. วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51–200 คน… วงเงิน 9,000 ล้านบาท
3. วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย สำหรับสถานประกอบที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน… วงเงิน 3,000 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กรณีสถานประกอบการมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี และคงที่ 3 ปี… ส่วนสถานประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี และคงที่ 3 ปี… เงื่อนไขเพิ่มเติมคือ สถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการ… ก่อนนำไปยื่นขอกู้กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน… ข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2563 ยังมีเพียง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ครับ
ข้อมูลถึงวันนี้มีประมาณนี้… หลายวันก่อนผมเผยแพร่บทความชื่อ สภาพคล่องในภาวะผันผวนและวิกฤติ ซึ่งเผยแพร่บนเวบไซต์ Reder.red เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งบทความชิ้นนั้น แนะนำให้ผู้ประกอบการรักษาสภาพคล่องและเงินสดในมือให้เหลือเยอะที่สุด เพราะยังมีความผันผวนไม่แน่นอนอีกมากในอนาคต ที่กิจการของหลายๆ ท่านต้องฝ่าฟัน และเงินสดเป็นเครื่องมือเดียวที่นอกจากจะพากิจการอยู่ยาวต่อไปได้จนพ้นวิกฤตแล้ว ยังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะใช้คว้าโอกาสในวันหน้า เมื่อมีโอกาสอยู่เบื้องหน้า
ขอให้ทุกท่านเข้มแข็งฝ่าฝันผ่านพ้นไปด้วยกันทุกท่านครับ!