อย่างที่บอกไปในงานเขียนหลายๆ ตอนว่า ผมศรัทธาใน Sharing Economy แบบสุดใจ ไหนๆ ก็แตะนิดแตะหน่อยกับห้องพักบ้านเช่า โฮสเทล เกสต์เฮาส์ โรงแรมมาเยอะแล้ว… onFocus เดือนแห่งความรักเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะนำทางคนอยากเป็นเจ้าของโรงแรมเล็กๆ มาแปะไว้แบ่งปันดีกว่า
การเริ่มกิจการโรงแรมไม่ว่าจะสร้างใหม่หรือปรับปรุงอาคารเก่ามาใช้ เรามีสิ่งที่ต้องคิดและทำตั้งแต่เริ่มคิด จนแขกคนแรกหิ้วกระเป๋ามาจ่ายเงินใช้บริการกับเรา… มากโขอยู่ครับ
และแต่ละกรณีก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน… ซึ่งทุกข้อความที่ผมเล่าไว้นี้ ก็ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว
เอาหล่ะครับ… มาเริ่มกันเลย
สำหรับผม… การแบ่งงานหลักๆ ก่อนเปิดให้บริการ ผมมีงานอยู่ 4 ด้านที่ต้องวางแผน และเร่งดำเนินการคือ
- งานเตรียมอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า
- งานเอกสาร ใบอนุญาตและงานด้านกฏหมายต่างๆ
- การสร้างทีมงานและออกแบบขั้นตอนการให้บริการและประกอบกิจการ
- งานด้านการขายและการตลาด
งานอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
ว่าไปแล้ว กิจการโรงแรมสำหรับผม ถือว่าเป็นงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าโดยตรงครับ แต่ผมจะข้ามการพูดถึงงานออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม รวมทั้งรายละเอียดงานก่อสร้างไปน๊ะครับ เพราะนั่นเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากที่จะพูดถึง
…แล้วจะเหลืออะไรให้พูดถึงหน่ะเหรอ?
เยอะเลยครับ… เรื่องแรกคือแนวคิดที่จะทำโรงแรมเลยครับ ถ้าคุณจะเริ่มโครงการที่การเลือกทำเล ก็จงนึกถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเอาไว้ครับว่า เขาจะมาใช้บริการโรงแรมของท่านได้ยังไง นอกจากเรื่องเดินทาง กับห้องพักแล้วยังต้องเตรียมเรื่องปากท้องของลูกค้าอีกครับ เรื่องกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างเข้าพักโรงแรมของท่านอีก ถึงขั้นต้องมีสระว่ายน้ำ ฟิตเนส ตกปลา ขี่จักรยานมั๊ย… ใส่ทุกอย่างเข้าไปในแนวคิดให้ได้เยอะที่สุด… เสร็จแล้ววิเคราะห์ 2 อย่างครับ
- อย่างแรกคือ คุณเห็น Personas ของลูกค้าจากสิ่งที่คุณมีไว้บริการหรือยังครับ ลองหาเครื่องมือออกแบบและวิเคราะห์ Personas มาถอดดูลูกค้าเป้าหมายของคุณน๊ะครับ… หลีกเลี่ยงที่จะออกแบบกิจการเพื่อคนทุกคน เพราะตอนคุณทำตลาด… แค่จะเตรียมโฆษณา ผมว่าก็ยากแล้วถ้าจะทำสื่อโดนใจทุกคนให้มาใช้บริการ
- อย่างที่สองคือ กิจกรรมของแขกพักกับผลตอบแทนการลงทุน เช่น ถ้าคุณเตรียมจักรยานไว้ ลูกค้าขี่ออกถนนไปเกิดอุบัติเหตุ?… คุ้มมั๊ย หรือมีสระว่ายน้ำไว้ ได้เรื่องภาพลักษณ์แล้ว สามารถดึงเงินออกจากกระเป๋าลูกค้า “เพิ่มอีก” ได้มั๊ย? หรือมีร้านอาหารที่มีครัวเตรียมอาหารรองรับการจัดเลี้ยงได้นับร้อยหัว… แต่ลืมดูว่าโรงแรมมีที่จอดรถพอหรือเปล่า?
หัวใจสำคัญของแนวคิดในการทำธุรกิจโรงแรมในทัศนของผมคือ การวางแผนด้านอสังหาริมทรัพย์ แยกออกจากงานบริการครับ… จริงอยู่คุณต้องคิดต้นทุนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะถ้าไม่เริ่มที่ตัวเลขนี้ การลงทุนให้มีงานบริการตามมาย่อมไม่เกิด… แต่อสังหาริมทรัพย์ ยังไงก็เป็นทรัพย์ครับ คุณซื้อที่ดิน คุณสร้างตึก ส่วนนี้จะมีมูลค่าในตัวอยู่แล้ว และราคาก็ย่อมเติบโตเป็นเงาตามเวลาอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบกิจการที่ทำ ROI (Return of Investment) ได้ด้วย… เรื่องมูลค่าหรือราคาก็ไม่ต้องกังวลแล้ว
ใบอนุญาตและงานด้านกฏหมาย
การขอใบอนุญาตต่างๆ ถ้าคุณไม่ชำนาญหรือคิดว่าจะไปคลำเหนือคลำใต้เอาข้างหน้า… หาคนรู้ปรึกษาก่อนก็ดีครับ ขึ้นชื่อว่าจะประกอบกิจการ… ผมว่าคุณต้องเริ่มที่นักบัญชีก่อนมั๊งครับ เริ่มต้นที่ถูกที่ควรก่อนครับ เรื่องซิกแซ๊กหลบเลี่ยงถ้าคิดว่าคุ้มค่า… รอให้ธุรกิจเริ่มรันก่อนก็ไม่สาย
สำคัญมากคือ… เรื่องผังเมืองและข้อบัญญัติเรื่องอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ใบอนุญาตก่อสร้าง ต่อเติมควรถูกต้องแต่แรกครับ
สองสามปีก่อนเคยมีข่าวใหญ่ที่นักลงทุนชื่อดังพลังชาเขียว ก่อสร้างตึกผิดข้อบัญญัตเทศบาลนครเชียงใหม่ จนขออนุญาตนำตึกไปใช้ทำอะไรไม่ได้และไม่สามารถเปิดกิจการโรงแรมอย่างที่วางแผนไว้จนทุกวันนี้…
ทีมและขั้นตอนการให้บริการ
ส่วนนี้คือเรื่องของงานบริการ ซึ่งคนกับงานจะมาพร้อมๆ กันเสมอ จริงอยู่… ใครๆ ก็พอจะนึกออกว่างานในโรงแรมหลักๆ จะทำอะไรบ้าง แต่ถ้าใครก็ตามสามารถใส่รายละเอียดชนิดที่รู้ได้ว่า ในรอบวันในโรงแรมของคุณมีใครทำอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ผมว่าภาพระดับนั้นจะช่วยให้การวางแผนรับมือกับงานรูทีนและปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมาก…
ถ้าท่านใดเคยทำ Job Description ลองร่างออกมาแล้วทบทวนดูหลายๆ รอบครับ… คุณจะเห็นทั้งงานและทีมเป็นภาพใหญ่ที่ต่างก็ทำหน้าที่ขับกลไกในความรับผิดชอบ พากิจการเดินหน้าไปด้วยกัน
งานขายและการตลาด
ผมว่าเราโชคดีที่เติบโตในยุคข้อมูลข่าวสารรุ่งเรือง การทำงานขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นเรื่องง่ายมาก การเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มอย่าง Booking, Agoda, AirBNB หรือแพลตฟอร์มจองห้องพักบ้านเช่าทั้งหลาย แลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยให้แพลตฟอร์มที่ส่งลูกค้าให้เราได้จากทุกมุมโลก… ผมว่าคุ้มค่ามากมาย
ที่เหลือในงานฝั่งการตลาดก็แค่ การรักษาภาพลักษณ์ที่แสดงไว้ตามที่ต่างๆ บนอินเตอร์เน็ต กับการรักษาความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในพื้นที่เท่านั้นเอง
ที่ว่ามาทั้งหมด… จริงๆ แล้วแค่เรื่องผิวเผินที่ว่าไปตามหลักและแนวทาง โดยรายละเอียดจริงๆ แล้วก็อย่างที่ผมเกริ่นไว้แต่ต้นว่า… นี่คือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เข้ามาจัดการให้เหมาะสมครับ การลงทุนลงแรงระดับนี้ถึงจะสามารถข้ามความล้มเหลวไปได้
ยินดีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทุกท่านครับ Add @properea เป็นเพื่อนบนไลน์แล้ว DM มาได้ตลอดครับผม!