เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา… มีข่างเผยแพร่จากเวบไซต์ทำเนียบรัฐบาล หรือ thaigov.go.th รายงานข่าวที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้นำผลิตภัณฑ์จาก BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้แนวทาง Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว โดยมี Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ และ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นองค์ประกอบสำคัญ
BCG Model เป็นความหวังที่ผ่านการวิเคราะห์กลไกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมายาวนาน โดยเฉพาะในยุคที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้ามารับงานบริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในตำแหน่งรัฐมนตรี… ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม… ท่านก็ผลักดันโครงการนี้ต่อ จนเอาผลผลิตมาจัดงานอวดนายกถึงบริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลอย่างภาคภูมิ
ผลิตภัณฑ์อย่าง น้ำตาลไอโซโมทูโลส ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุลก็ดี… ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้งก็ดี… รวมทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลาก็ดี… ทั้งหมดแม้ยังดูว่ามีน้อยชิ้น… แต่ก็ชัดเจนในแนวคิดและทิศทาง รวมทั้งการประกาศศักยภาพนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทย
BCG Model จึงเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศสายหลักอีกสายหนึ่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้ดีขึ้น พร้อมกับโอกาสสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model หลายแง่มุม เช่น
- มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG
- ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน
- ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและส่วนประกอบอาหารมูลค่าสูง Top 5 ของโลก
- เข้าสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตยา เครื่องมือแพทย์ วัสดุชีวภาพ มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพส่งออก เป็นแหล่งจ้างงานทักษะสูงและรายได้สูง
- ระบบบริหารจัดการท่องเที่ยว นำไปสู่ Top 3 ของเอเชียแปซิฟิก
- ลดการใช้ทรัพยากรลงจากปัจจุบัน
การดำเนินงานจะทำร่วมกันหลายภาคส่วนให้เป็นไปโดยมีเอกภาพและมีพลัง แต่ละภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับทั้งการแข่งขันได้ในระดับโลกและการส่งต่อผลประโยชน์สู่ชุมชน และขับเคลื่อนโดยกลไกการทำงานแบบจตุภาคี หรือ Quadruple Helix… ผ่านการผสานพลังภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรความร่วมมือในระดับโลก
โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะขับเคลื่อนศักยภาพของหน่วยงานภายใต้กระทรวง ทั้งในมิตินักวิจัย องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ หรือ National Quality Infrastructure หรือ NQI และการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม มาใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบจตุภาคีร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษาและชุมชน
เครดิตภาพ: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ประเด็นก็คือ BCG Model เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ ถึงขั้นรวบรวมห่วงโซ่มูลค่า หรือ Value Chain ของ 5 อุตสาหกรรม S-curves หลัก ได้แก่… อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ… การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ… การแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยว บูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี “สัดส่วนใน GDP ถึง 21%” และเกี่ยวข้องกับอาชีพและการจ้างงานของคนในประเทศมากกว่า 16.5 ล้านคน
ในทางเทคนิค… BCG Model เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนาน โดยพึ่งพา “ความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับสูงสำหรับผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” เช่น ส่วนประกอบอาหารสุขภาพ ชีววัตถุ สารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ และในส่วนฐานกว้างของปิรามิดที่เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างมูลค่าให้คนจำนวนมาก และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมความเข้มแข็งของทุนทางสังคมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือ SDG ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางขององค์การสหประชาชาติ
ประเด็นการสร้างคุณค่าใน BCG Model นั้น… มีการกำหนดแนวทางและตัวชี้วัดมุ่งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาส รายได้ และความเจริญ ไปสู่ประชาชนของประเทศอย่างทั่วถึง… ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม… เข้าไป “ยกระดับผลิตภาพ” ของผู้ผลิตส่วนใหญ่ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน และนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise ที่มีความพร้อม ให้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มุ่งเป้าสู่การเป็น “ประเทศผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในท้ายที่สุด ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี
ส่วนกรอบการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่กำหนดไว้เป็นภาพกว้างประกอบด้วย
- การสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการลดการใช้ปุ๋ยและยาที่เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกรไทย และยังได้ผลิตผลที่ปลอดภัย ได้คุณภาพและปริมาณคงที่ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถนำผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพคงที่มาแปรรูปให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้อีกด้วย
- การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยดูดซับผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินในตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม
- การผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาแพงได้เพิ่มขึ้น และลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์
- การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวไปพร้อมกัน
- การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการแก้ปัญหาขยะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
References…