Poetry หรือบทกวีสำหรับนักปราชญ์ยุคก่อนคริสตกาล ถือเป็นแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อให้ผู้เสพกวี ได้สืบทอด ถอดความและนำแก่นความจริงไปสู่ปัญญา… ทัศนะของอริสโตเติล ก็มองบทกวีเป็นสิ่งที่จำลองความจริง และถ่ายทอดความจริงออกมาผ่านภาษาและมนุษย์เข้าใจได้…
นักปรัชญาตะวันออกอย่างขงจื๊อก็มองว่า บทกวีเป็นสิ่งที่สามารถกล่อมเกลาให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บทกวีเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ด้วยซ้ำไป… หลายท่านที่ศึกษาขงจื๊อระบุตรงกันว่า… ทัศนะของขงจื๊อที่มีต่อกวีนิพนธ์นั้น ถึงขนาดระบุไว้ชัดเจนว่า “ใครที่ไม่ร่ำเรียนกวีนิพนธ์เป็นคนที่ไม่อาจเสวนาด้วยได้”
การใช้บทกวีโดยปราชญ์ยุคคลาสสิก จึงเกิดขึ้นทั่วโลก และหลงเหลือสะท้อนผ่านบทสวดต่างๆ ในทุกศาสนา… ลำนำและบทกลอน
งานเสวนาหัวข้อ “ปรัชญาในบทกวี : บทกวีกับปรัชญา” ที่จัดขึ้น วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ ร้านหนังสือบูคู จังหวัดปัตตานี โดยมีคุณซะการีย์ยา อมตยา กวีเจ้าของรางวัลซีไรท์ปี พ.ศ. 2553 และ ดร.อับดุลรอนิง สือแต จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้นำการเสวนา
วงเสวนาวันนั้นนำโดยอาจารย์ อันธิฌา แสงชัย ซึ่งอาจารย์เองได้กรอบความสัมพันธ์ของกวีกับปรัชญาไว้ว่า… ปรัชญาและกวีนิพนธ์ต่างสนใจความเป็นจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต… และเป้าหมายสูงสุดในงานสร้างสรรค์ของตัวเองคือการค้นพบความจริงบางอย่าง แต่อาจจะด้วยวิธีการที่แตกต่าง
พูดถึงกวีนิพนธ์… โดยส่วนตัวจะนึกถึงแนวคิดหรือปรัชญาของเพลโต หรือ Plato… นักปรัชญาชาวกรีกโบราณจากเอเธนส์ ผู้ถกเถียงโต้แย้งเรื่องตัวอักษรและกวีไว้หลากหลายมิติ ผ่านหนังสือชื่อ Ion ซึ่งเป็นหนังสือแนวสนทนาธรรม หรือสร้างตัวละครมาคุยกัน… และหนังสือ Ion ก็กล่าวถึงบทกวีอย่างมีนัยยะโต้แย้งสร้างสรรค์ ผ่านการถกถามสนทนาโดยไออนกับโสกราติส
เพลโตเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องโลกสมบูรณ์แบบ โดยเชื่อว่า โลกของสวรรค์คือโลกสมบูรณ์แบบ… ส่วนโลกมนุษย์เป็นโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ และ เพลโตโด่งดังและได้รับการยอมรับจากการเขียนหนังสือ The Republic ที่ว่าด้วยอุดมการณ์การปกครองเมือง และกล่าวถึงคุณธรรมที่แท้จริง… แนวคิดของเพลโตมีอิทธิพลอย่างมากในวงการปรัชญาตะวันตก ด้วยความพยายามจะตอบคำถามเพลโตบ้าง และหาข้อมูลถกแย้งบ้าง รวมทั้งการหาเหตุผลเพื่อลบล้างแนวคิดของเพลโตบ้าง
ส่วนเนื้อเรื่องใน Ion นั้น… Ion หรือไออน เป็นนักกลอน หรือ กวีผู้ชนะเลิศการประกวดบทกลอน และ ได้สนทนากับ โสกราตีส หรือ Socrates ซึ่งเป็นอาจารย์ของเพลโต… ไออนและโสกราตีสสนทนากันว่าด้วยเรื่องความสำคัญของกวี
ตัวละครโสกราตีสในหนังสือไออนกล่าวว่า… ทักษะด้านการร่ายกลอนหรือกวีไม่มีอยู่จริง ทักษะทางด้านกวีนั้นเป็นเพียงทิพยอำนาจของเทพีศิลป์ หรือ Muse มาสถิตย์ในตัวนักกวีเท่านั้น โดยยกเหตุผลอ้างว่า ทำไมคนร่ำรวยจู่ๆ จึงร้องไห้ขณะฟังนักร่ายกลอนอ่านกวี ทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปขโมยสมบัติจากเขาเลย นั่นเป็นเพราะพลังอำนาจของเทพีศิลป์นั่นเอง ที่ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงกับทุกฉากทุกตอนในกวี… ซึ่งเพลโตได้จัดสิ่งเหล่านี้เป็นความบ้าของทวยเทพ โดยความบ้าในเรื่องของกวี จัดเป็นความบ้าที่สัมพันธ์กับเทพีศิลป์
ดูเหมือนเพลโตจะเป็นคนที่ไม่ชอบกวีอย่างมาก เพราะมันไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นเลยุ เพลโตเชื่อว่าเทพเจ้าได้มอบทักษะพรสวรรค์ชุดหนึ่งให้มนุษย์แต่ละคนได้ฝึกฝนใช้มัน แต่ละคนจะมีทักษะติดตัวต่างกัน คนที่จะตัดสินว่าใครสุขภาพดี ใครป่วยได้ต้องอาศัยทักษะทางการแพทย์ คนที่จะตัดสินว่ารองเท้าคู่ไหนดีที่สุดก็ต้องอาศัยทักษะการทำรองเท้า แต่กับทักษะกวี เป็นทักษะที่ไม่สามารถตัดสินหรือวิพากษ์อะไรได้เลยนอกจากร่ายไปวันๆ
ในกวีของโฮเมอร์ที่กล่าวถึงการควบม้าในสงคราม… เพลโตวิพากษ์ว่า นักกวีไม่สามารถวิจารณ์ตัดสินได้ว่าควรควบม้าอย่างไรให้ดี คนที่ควรพูดเรื่องขี่ม้าหรือควบม้าได้ควรเป็นนักขี่ม้าไม่ใช่กวี… เพราะกวีเป็นเพียงผู้ที่นำเรื่องคนอื่นมาเรียบเรียง โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้อะไรจริงๆ
368 ปีก่อนคริสตกาล… เพลโตในวัย 60 ปีนั่งเรือไปยังเมืองซีราคิวส์ หรือ Syracuse หรือที่ชาวอิตาเลียนเรียกว่า Siracusa… เมืองขนาดใหญ่บนเกาะซิซิลีของอิตาลีในปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 734 ปีก่อนคริสตกาล และอยู่ใต้อิทธิพลของกรีกโบราณแต่ก็มีสถานะของรัฐอิสระ คือมีกษัตริย์ของตนเอง
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยหนุ่ม… เพลโตเคยมาที่เกาะแห่งนี้สมัยกษัตริย์ไดโอนิซิอุสที่หนึ่ง หรือ Dionysius the Elder ปกครองซีราคิวส์…
กษัตริย์ไดโอนิซิอุสที่หนึ่งมีชื่อเสียงเรื่องเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปิน นักเขียน และกวี… เพลโตจึงได้รับการเชื้อเชิญให้มาซีราคิวส์ผ่านดิออนที่ปรึกษากษัตริย์ไดโอนิซิอุส… ปัญหาก็คือกษัตริย์ไดโอนิซิอุสที่หนึ่งเป็นผู้นำที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เขาปฏิบัติต่อคนอื่นในแบบที่คาดเดาไม่ได้และตามอารมณ์ตนอย่างที่สุด
เมื่อเพลโตมาถึงซีราคิวส์ ดิออนผู้ชักนำเพลโตมาทำงานให้กษัตริย์ไดโอนิสซิอุสก็ขอเป็นศิษย์… สถานะศิษย์กับครูทำให้เพลโตและดิออนสนิทสนมกัน และ ดิออนก็เชื่อในหลักการ “ราชาปราชญ์ หรือ Philosopher King” ของเพลโตอย่างมาก… ดิออนจึงพยายามปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับกษัตริย์ไดโอนิสซิอุส… และเมื่อดิออนนำเพลโตเข้าเฝ้าถวายงานแก่กษัตริย์ไดโอนิสซิอุส… เรื่องใหญ่ก็เกิดกับชิวิตนักปราชญ์นามกระเดื่องอย่างเพลโต
บันทึกชื่อ Lives and Opinions of Eminent Philosophers ของ Diogenes Laërtius ตอนหนึ่งระบุว่า เพลโตได้ทูลกษัตริย์ไดโอนิสซิอุสเกี่ยวกับ “ผลประโยชน์ของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดสำหรับรัฐ” แปลว่า จะให้ทั้งรัฐยกประโยชน์ทั้งปวงให้กษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องถูกต้องดีงาม เพราะยังมีประชาชนอีกมากมายที่รอการเกลี่ยประโยชน์สุขเหล่านั้นด้วย
นั่นทำให้กษัตริย์ไดโอนิสซิอุสสั่งประหารเพลโตทันทีโดยไม่ต้องหยุดคิด… แต่ดิออนร้องขอไว้ สุดท้ายเพลโตจึงถูกขายไปเป็นทาสและเนรเทศไปถึงเกาะเอจินา หรือ Aegina ก่อนจะมีคนจำได้และไถ่ตัวออกมาราคาแสนต่ำ
การกลับมาซีราคิวส์อีกครั้งในยุคกษัตริย์ไดโอนิสซิอุสที่สอง ของเพลโตในวัยชราจึงเป็นเรื่องท้าทายอยู่มาก… แม้ว่าสหายและศิษฐ์อย่างดิออนจะยังอยู่เป็นหลักให้เพลโตผู้เฒ่าได้อุ่นใจ… และพระมารดาของกษัตริย์ไดโอนิสซิอุสที่สองคือน้องสาวของดิออนนั่นเอง
แต่ความวุ่นวายของการแก่งแย่งอำนาจซับซ้อนในซีราคิวส์ ที่เริ่มต้นด้วยการเนรเทศดิออนฐานกบฏและยึดทรัพย์ของดิออนโดยคำสั่งกษัตริย์ไดโอนิสซิอุสที่สอง ที่ให้ริบกระทั่งภรรยาของดิออนไปให้ชายอื่น… และดิออนกลับมาชิงอำนาจจนสำเร็จ และขึ้นปกครองซีราคิวส์ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะถูกรัฐประหารชิงบัลลังก์ซ้ำจาก คาลิปปุส หรือ Callippus
ประเด็นก็คือ… การชิงอำนาจระหว่าง กษัตริย์ไดโอนิสซิอุสที่สอง กับดิออน และ คาลิปปุส ล้วนเป็นศิษฐ์ของเพลโต และเชื่อในแนวคิดราชาปราชญ์ หรือผู้ปกครองที่รอบรู้และเป็นคนดี คือกลไกสำคัญที่จะทำให้รัฐสามารถดำเนินไปได้จนถึงอุดมคติ ซึ่งเพลโตพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นต่อจาก แนวคิดประชาธิปไตยของโสเครตีสผู้เป็นอาจารย์ และล้มเหลวจนโสเครตีสถูกประหารด้วยยาพิษ
เพลโตช่วงอายุสี่สิบปี และสะสมประสบการณ์ชีวิตจากการท่องโลกไปทั่วทั้งอิตาลี ซิซิลี อียิปต์ และอาหรับ… เพลโตได้กลับเอเธนส์และก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในอารยธรรมตะวันตก เรียกว่า The Academy ขึ้น… เพลโตใช้เวลาส่วนใหญ่สอนอยู่ที่ The Academy แต่ก็เขียนเกี่ยวกับปัญหาทางปรัชญาไว้เป็นจำนวนมาก งานเขียนของเพลโตส่วนมากแล้วเป็นบทสนทนา คำคม และจดหมาย… ผลงานของเพลโตที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมด ยังมีข้อสงสัยมากมาย หรือไม่ก็ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยอมรับได้
ส่วนประเด็นทัศนคติเกี่ยวกับกวีของเพลโตนั้น… เพลโตเชื่อว่า การเขียนไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเป็นเครื่องกระตุ้นความทรงจำ สิ่งที่ทำให้เรารู้ไปตลอดกาลคือการฝึกจิตวิญญาณของเราให้ตื่นอยู่เสมอและดึงเอาความทรงจำแห่งสัจธรรมที่ซ่อนอยู่ออกมา… ตัวอักษรจึงไม่ใช่สัจธรรมโดยตรง แต่เป็นเพียง “เงา” ของสัจธรรมอีกที… และบทกวีทั้งหลายเป็นเพียงแค่ความสนุกที่ไม่มีคุณค่าใดๆ
ยุคต่อๆ มาจึงมีปรากฏการณ์โต้แย้งเพลโตในประเด็นกวีมากมาย… รวมทั้งงานของอริสโตเติล หรือ Aristotle ที่โต้แย้งกับแนวคิดเพลโตไว้ในหนังสือ Poetics ว่า… มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ลอกเลียนธรรมชาติเป็นปกติวิสัย ดังนั้นแล้ว นักกวีที่ดีคือผู้ที่ถอดแบบการกระทำของคนที่มีศีลธรรม เพื่อนำมาเรียบเรียงให้มีความเหมาะสมทางศีลธรรม งานกวีจึงไม่ได้เปล่าประโยชน์
กระทั่งศตวรรษที่ 19 นักกวีโรแมนติกนาม Percy Shelly ได้เผยแพร่งานเขียนเรื่อง A Defense of Poetry ก็นำเอาทฤษฎีเรื่องแรงดลใจ หรือ Inspiration ของเพลโตไปประยุกต์ใช้… Percy Shelly กล่าวว่า มนุษย์นั้นมีการพัฒนาจนถึงยุคที่มีองค์ความรู้เยอะไปหมดไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การเมือง ปรัชญา และสังคม ปัญหาคือองค์ความรู้เหล่านี้มีมากเกินไป จนเราไม่สามารถจัดการได้ มีเพียงกวีและการประพันธ์ที่สามารถจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ว่าเราควรจะใช้มันในทิศทางไหน ลองคิดดูเล่นๆ ว่า เราจะสอนศีลธรรมให้แก่ลูกหลานยังไง หากเราไม่มี กวี วรรณกรรมและนิทาน
ถึงตรงนี้ท่านคงทราบแล้วว่า… กวีนิพนธ์เป็น Storytelling ที่มีมาแต่โบราณ และทรงอิทธิพลต่อพัฒนาการด้านอารยธรรมของมนุษย์มาช้านาน… และราชาแห่งความเห็นแย้งเกี่ยวกับกวีอย่างเพลโต ก็มีนักวิจารณ์บางส่วนมองว่า… ข้อโต้แย้งเรื่องกวีนิพนธ์ของเพลโตอาจจะเป็นอุบายให้เกิดข้อถกเถียงแต่งเติมให้เด่นชัดต่างหาก และวิพากษ์ว่า เพลโตมองกวีหรือแม้แต่ศิลปะว่ามีค่าต่ำ เพราะถือเป็นเพียงทางผ่านไปสู่ปรัชญา ดังนั้นเพลโตไม่อาจให้ความเป็นธรรมแก่กวีหรือศิลปะ เพราะไม่แยกกวีและศิลปะออกจากปรัชญานั้นเอง… เพลโตก็เคยทิ้งคำคม หรือ Quote บทหนึ่งที่พูดถึงกวีเอาไว้อย่างชัดเจนว่า… At The Touch of Love, Everyone Becomes a Poet… ณ จุดที่ได้สัมผัสแห่งรัก ผู้คนล้วนสัมผัสบทกวี
งานเขียนของโตมร ศุขปรีชา พูดถึงการจากไปของเพลโตไว้ว่า… เพลโตอาจเสียชีวิตในวัย 81… 82 หรือ 84 ปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเชื่อในนักบันทึกคนไหน โดยบันทึกส่วนใหญ่บอกว่า… เขาเพียงแต่หลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเมื่อราว 348 หรือ 347 ปีก่อนคริสตกาล…
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ!
อ้างอิง
- https://www.baanjomyut.com/library_3/extension-1/western_philosophy/16.html
- https://en.m.wikipedia.org/wiki/Plato
- https://web.facebook.com/booksontheshelf/posts/741920305968771/
- https://web.facebook.com/booksontheshelf/posts/748983545262447/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Plato
- https://thematter.co/thinkers/plato-s-philosopher-king/85482