จากมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2561 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่าการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยมีการออกเป็นกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 รองรับ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 58 ชนิด ไม้สัก พะยูง ชิงชัน แดง เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี จามจุรี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มะขามป้อม หว้า กฤษณา ไม้หอม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
นพ. อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้กล่าวไว้บนเวทีกลางเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า
“หากมองถึงปัญหาในการทำการรับรองไม้ยืนต้น ในปัจจุบันไม้เหล่านี้ยังไม่มีมูลค่า นำมาสู่ยุทธศาสตร์ต้นไม้เพื่อแผ่นดิน ที่สามารถใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทางธุรกิจ อยู่บนพื้นฐานในที่ดินกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และจุดสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งทำการศึกษาคือ การประเมินมูลค่าของไม้ยืนต้นอย่างเป็นรูปธรรม การตัดไม้ยืนต้นในที่กรรมสิทธิ์นั้นยังคงทำได้ยาก เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมายในมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่สำคัญคือ การส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ในการปลูกและบำรุงรักษาไม้ยืนต้นให้แก่ประชาชน เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกชนิดไม้ยืนต้นแต่ละชนิดในพื้นที่ต่างๆ และการเสนอแนะให้มีการพิจารณาตัดคำว่า 58 ชนิดออก เพราะในความเป็นจริงแล้วไม้ยืนต้นในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 58 ชนิดอยู่แล้ว”
ส่วนคุณศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคาร ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการรับรองไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยใช้กระบวนการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง ในรูปแบบธนาคารต้นไม้ เพื่อประเมินต้นไม้และมูลค่า โดยใช้ฐานข้อมูลตารางปริมาตรไม้ ที่จัดทำโดยคณะวนศาสตร์ในปี 2552 เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมในธนาคารต้นไม้ 115,217 คน จาก 6,804 ชุมชน ผ่านการดำเนินการ 7 ขั้นตอน ได้แก่
- เวทีปลูกต้นไม้ในใจคน
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- จัดตั้งธนาคารต้นไม้
- กำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้
- ส่งเสริมการปลูกต้นไม้
- บันทึกรายการและมูลค่าต้นไม้ (สมุดธนาคารต้นไม้)
- การเชื่อมโยงกับเครือข่าย
โดยมีเงื่อนไขใช้ที่ดินจำนองร่วมกับมูลค่าของต้นไม้ ที่ประเมินเป็นหลักประกันในราคาการประเมินร้อยละ 50 โดยในการเปรียบเทียบราคาตามมาตรฐานของต้นไม้ที่รับขึ้นทะเบียน เช่น ต้นไม้อายุ 10 ปี มีการเจริญเติบโตที่มีเส้นรอบวง 74.17 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 2,362 บาท/ต้น
ส่วนคุณวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตามข้อกำหนด พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้ทำหน้าที่รับแจ้งการลงทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการกู้ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย
“ในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มากกว่า 2,800,000 ราย และประมาณ 800,000 ราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยส่วนใหญ่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ดังนั้น ในการใช้ทรัพย์เป็นหลักประกันที่กำหนดไว้ ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินทางปัญญา สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ได้ออกเพิ่ม ในการกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันนั้น ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ”
ครับ! ข้างบนผมคัดมาจากข่าว thaipost.net ที่รายงานเอาไว้ค่อนข้างละเอียด… และที่ผมคัดมาให้อ่านก่อนก็เพื่อจะชี้ประเด็นว่า ตั้งแต่มีการรื้อ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และแก้ไขมาตรา 7 ที่เคยกำหนดให้ชนิดไม้หวงห้าม อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ฯลฯ ที่ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ใดในประเทศ รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ หากทำการตัด ฟัน โค่น และอื่นๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็น “ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้ามในการทำไม้เพื่อประกอบการค้าหรือเพิ่มมูลค่าไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เว้นแต่กรณีที่ต้องการส่งออกไม้หรือผลิตภัณฑ์ออกนอกราชอาณาจักรจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำไม้ในพื้นที่เอกชนตามนโยบายปลูกง่ายตัดง่ายขายคล่องและการเอื้อประโยชน์ในการนำไปเป็นหลักค้ำประกันเพราะประชาชนบางคนในที่ดินก็มีไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าที่สามารถใช้แทนทรัพย์สินอื่นได้”
ที่นี้ก็เหลือแต่… คุณมีที่ดินอยู่บ้างหรือยัง อาจจะเป็นที่ดินไกลจากตัวเมือง ราคาที่ดินไม่ได้แพงมากมาย และอาจจะมีไม้ยืนต้นอยู่ในแปลงที่ดินอยู่แล้วบางส่วน หากล้าไม้มูลค่าสูงมาปลูกเพิ่มซิครับ 10-15 ปีข้างหน้า ที่ดินแปลงนั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว ที่สำคัญ ไม้ยืนต้นเหล่านั้น น่าจะโตพอที่จะไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เพื่อแจ้งการลงทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ) หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (เพื่อทำเรื่องรับรองไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ) ไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อหาสินเชื่อซักก้อนมาใช้ทำอะไรซักอย่าง
หรือจะขายที่แปลงนั้น พร้อมไม้ยืนต้นมูลค่าสูงที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ได้… ผมว่าเป็นแผนธุรกิจที่ไม่เลวเลยน๊ะครับ!
รายชื่อไม้ยืนต้น 58 ชนิด ประกอบด้วย
- ไม้สัก
- พะยูง
- ชิงชัน
- กระซิก
- กระพี้เขาควาย
- สาธร
- แดง
- ประดู่ป่า
- ประดู่บ้าน
- มะค่าโมง
- มะค่าแต้
- เคี่ยม
- เคี่ยมคะนอง
- เต็ง
- รัง
- พะยอม
- ตะเทียนทอง
- ตะเทียนหิน
- ตะเทียนชันตาแมว
- ไม้สกุลยาง
- สะเดา
- สะเดาเทียน
- ตะกู
- ยมหิน
- ยมหอม
- นางพญาเสือโคร่ง
- นนทรี
- สัตบรรณ
- ตีนเป็ดทะเล
- พฤกษ์
- ปีบ
- ตะแบกนา
- เสลา
- อินทนิลน้ำ
- ตะแบกเลือด
- นากบุด
- ไม้สกุลจำปี
- แคนา
- กัลปพฤกษ์
- ราชพฤกษ์
- สุพรรณิการ์
- เหลืองปรีดียาธร
- มะหาด
- มะขามป้อม
- หว้า
- จามจุรี
- พลับพลา
- กันเกรา
- กะทังใบใหญ่
- หลุมพอ
- กฤษณา
- ไม้หอม
- เทพทาโร
- ฝาง
- ไผ่ทุกชนิด
- ไม้สกุลมะม่วง
- ไม้สกุลทุเรียน
- มะขาม