ผมรวบรวมบทความนี้ขึ้น เพื่อบันทึกไว้ที่ properea ครับ เพราะวันที่เผยแพร่ข้อมูลนี้ ขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้เริ่มมากว่าสัปดาห์แล้ว… ข้อมูลจึงมีอยู่มากมาย
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ)
ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่
- สถานีดอนเมือง
- สถานีบางซื่อ
- สถานีมักกะสัน
- สถานีสุวรรณภูมิ
- สถานีฉะเชิงเทรา
- สถานีชลบุรี
- สถานีศรีราชา
- สถานีพัทยา
- สถานีอู่ตะเภา
โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร
- ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
- ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ ต้องเป็นการพัฒนาร่วมไปกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ทันที
แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- สมุทรปราการ
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- ระยอง
ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิมและมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า) โดยแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการ คือ
1. โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL)
2. โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension)
3. โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง
…นั่นคือข้อมูลคร่าวๆ ที่มีเผยแพร่อยู่ตามสื่อและอินเตอร์เน็ตทั่วไป แต่มีบางประเด็นที่ผมขออนุญาตแทรกเป็นความเห็นเอาไว้ เพื่อให้ข้อเขียนชุดนี้เป็นบทความมากกว่าจะเป็นเพียงข่าวหรือข้อมูล
ประเด็นคือรูปแบบการลงทุนที่เป็นแบบ PPP Net Cost (Public-Private Partnership Net Cost) ระยะเวลา 50 ปี ที่เอกชนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่บนที่ดินของการรถไฟ แม้ต้องจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟตลอดสัญญา แต่สิทธิการใช้ที่ดินสี่สิบห้าสิบปีที่คู่สัญญาของการรถไฟได้รับมา หลายพื้นที่คงเติบโตสะสมจนสร้างมูลค่าเพิ่มอีกมาก… เหมือนที่ดินย่านลาดพร้าวในอดีต
… และโอกาสมีเสมอ สำหรับใครซักคนที่กำลังมองหาเป้าหมายการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แม้ไม่ใช่คู่สัญญาเข้าประมูลด้วยเงินลงทุนแสนล้าน แต่โอกาสในอสังหาริมทรัพย์ในอภิมหาโครงการนี้ ผมว่ามีเหลือโอกาสแบ่งปันความเติบโตร่วมกับใครหลายๆ คนอยู่แล้วหล่ะครับ!