วันที่ 4 กรกฎาคมที่จะถึงนี้เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” ครับ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้เลือกเอาวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของพวกเรา… เป็นโอกาสในการผลักดันและรณรงค์ใหญ่เพื่อให้ทุกภาคส่วน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เราและลูกหลานต้องอยู่อาศัย
ปีนี้อาจารย์แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้ใช้โอกาสนี้ออกแคมเปญรณรงค์ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)”… ซึ่งเนื้อข่าวที่ผมอ่าน ขึ้นพาดหัวว่า “กทม.ต้องใช้ ‘หอฟอกอากาศ’ ถึง 16,000 หอจึงจะฟอกอากาศทั้งเมืองได้”
แน่นอนว่า… ปัญหาคุณภาพอากาศที่ทุกคนในชาติกำลังตื่นตัว จากประเด็น PM 2.5 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา… คุณพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ จึงนำตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจออกมาเปิดเผยว่า… สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 63 สถานี ใน 33 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน… ภาพรวมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมลพิษ 3 ชนิดที่เป็นปัญหา ได้แก่
- ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน หรือ PM 10
- ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5
- โอโซน
หากประเมินเชิงเวลาพบว่า ปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะเกิดในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน และช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม… หากพิจารณารายพื้นที่ ประเทศไทยจะมีปัญหาใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่
- พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ… ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2562 เกิดช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน… และสถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตุนิยมวิทยาระบุว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ทำให้แล้งมากขึ้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1-2 องศา และประมาณน้ำฝนลดลง 10 % ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อมีไฟเกิดขึ้นก็จะเผาได้ดี บวกกับแหล่งกำเนิดเกิดจากไฟป่าเป็นหลัก ซึ่ง กว่า 80 % จุดความร้อนจะเกิดในพื้นที่ป่า รวมถึง การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร
- พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล… โดยสถานการณ์ที่ผ่านมา เกิดปัญหาในช่วงเดือน พฤษจิกายน 2561-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยสาเหตุหลักของมลพิษเกิดจากจราจร ปริมาณการปล่อยไม่ว่าฤดูใดก็จะใกล้เคียงกัน สถานการณ์ที่มีค่าเกินมาตรฐานจึงขึ้นกับสภาพอากาศเป็นหลัก
- พื้นที่ ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี สถานการณ์ปี 2562 รุนแรงมากขึ้น ค่าเฉลี่ยมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งที่จะมีการก่อสร้างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งผลิตหินปูน มีเหมืองแร่หินปูน และโรงปูน แม้การควบคุมที่ผ่ามามีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก เช่น ฉีดน้ำ ล้างถนนมากขึ้น แต่ช่วงหน้าแล้งอากาศก็จะปิด ทำให้สถานการณ์มลพิษเกินมาตรฐาน
เรื่องข้อมูลขออนุญาตนำเสนอไว้เพียงเท่านี้… เพราะผมคิดว่าข้อมูลที่ทางการเปิดออกมาก็ไม่ได้ผิดจากความเข้าใจระดับสามัญของผมมากมาย และผมก็ยังคิดว่า สถานการณ์คงจะเกิดวนเป็นฤดูกาลเช่นเดิม โดยห้วงเวลาสั้นยาวคงเป็นเพราะฟ้าฝนและธรรมชาติของฤดูกาลจะเป็นตัวกำหนด… แต่ก็ส่งกำลังใจให้ทุกๆ ความพยายามที่หาหนทางช่วยกันทำให้ปัญหาคุณภาพอากาศ… มีทางออกที่สดใสครับ
ประเด็นคือแบบนี้… ผมถูกสอนมาให้มองปัญหาเป็นโอกาส และผมก็แนะนำให้ทุกคนสร้างโอกาสขึ้นจากปัญหาเสมอ!
ในเมื่อปัญหาคุณภาพอากาศ วนมาเป็นฤดูกาลที่สามารถทำนายได้ไม่ยากขนาดนี้… ผมคิดว่า อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ๆ ดีต่อลมหายใจจริงๆ มีที่ว่างสำหรับ “โอกาส” มากมาย… 2-3 วันก่อนผมได้คุยกับผู้บริหารบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ท่านหนึ่งเรื่องเลือกทำเลขึ้นโครงการใหม่ว่า… ปัจจัยใหม่ที่ต้องคิดก่อนซื้อที่ดินซักแปลงมาทำจัดสรรขายคือเรื่องมลพิษทางอากาศ… ความยากอยู่ตรงที่เราจะหนีพ้นอากาศที่น่ากังวลอย่าง PM 2.5 กันยังไง?
แต่ถ้า… ต้องตั้งเครื่องฟอกอากาศยักษ์เพื่อสู้กับความแออัดนานาในเมืองใหญ่ที่ทุกคนยังไม่ใส่ใจอย่างที่เป็นข่าว… มันจะใช่มั๊ยน๊ะ?

เครดิต