คราวด์ฟันดิง หรือ Crowdfunding เป็นหนึ่งในรูปแบบการระดมทุนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้โครงการ หรือ ธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางการเงินได้มากขึ้น… ซึ่ง Crowdfunding จะเป็นการระดมทุนจากผู้ลงทุนหลายๆ คน เพื่อสนับสนุนโครงการ หรือ ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผ่านตัวกลาง หรือ แพลตฟอร์ม ที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้ระดมทุนกับนักลงทุน
รูปแบบการระดมทุนใน Crowdfunding โดยทั่วไปจะแบ่งออกตามพื้นฐานลักษณะการระดมทุน ได้เป็น 4 แบบคือ
- Donation Based Crowdfunding หรือ การระดมทุนแบบบริจาค… มักจะเป็นการระดมทุนขององค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่างๆ ที่มีโครงการที่ต้องการทำให้สำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง นำโครงการนั้นมาวางในแพลตฟอร์มเพื่อระดมทุนจากผู้สนใจ Crowdfunding ลักษณะนี้เป็นการระดมทุนแบบให้เปล่า ไม่มีสิ่งตอบแทนให้กับนักลงทุน
- Reward Based Crowdfunding หรือ การระทุนแบบมีของรางวัลตอบแทนการลงทุน… จะเป็นการระดมคล้ายกับการบริจาค แต่มี Reward หรือสิ่งของให้เป็นรางวัล ตามรูปแบบที่ผู้ระดมทุนระบุไว้ในเงื่อนไขเพื่อสมนาคุณหรือตอบแทน
- Debt Based Crowdfunding หรือ การระดมทุนด้วยการกู้ยืม… โดยผู้ระดมทุนจะนำธุรกิจของตนเองมาขอระดมทุน ผ่านตัวกลาง หรือ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่คล้ายกับตลาด ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน โดยผู้ระดมทุนจะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” และนักลงทุนจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้”
- Equity Based Crowdfunding หรือ การระดมทุนแบบหลักทรัพย์… โดยธุรกิจที่เข้าระดมทุนจะเสนอให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นในธุรกิจ ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นหรือสิทธิในการเป็นเจ้าของร่วมในกิจการ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ประเทศไทยมีช่องทางการระดมทุนทั้ง 4 แบบที่กล่าวมาข้างต้นหมดแล้ว ที่สำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลเอง… สำหรับช่องทางที่ถูกกฏหมายไทย… และทาง ก.ล.ต. เองก็เดินสายประชาสัมพันธ์ในหลายๆ เวที เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งธุรกิจและนักลงทุนสามารถมาพบกันอย่างสบายใจ… นักลงทุนได้ที่ที่ให้ทุนได้ทำงาน นักธุรกิจก็มีที่ให้อวดงานดึงดูดทุน… โดยเฉพาะการระดมของภาคเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลในมือผมตอนนี้ มีทั้ง Debt Based และ Equity Based Crowdfunding ให้กิจการด้านการเกษตรและกิจการสายเทคเกษตร หรือ AgTech ไปเสนอตัวขอใช้แพลตฟอร์มระทุนแบบ Crowdfunding ได้จริงแล้วในประเทศไทย… ซึ่งจะมีจุดตั้งต้นที่ Funding Portal
Funding Portal คือกิจการที่ได้รับความเห็นชอบและมีใบอนุญาตเป็นตัวแทน ก.ล.ต. คัดกรองบริษัทที่ต้องการระดมทุนแบบ Crowdfunding โดยจะทำหน้าที่สอบทานความมีตัวตนและคุณสมบัติของผู้ระดมทุนตามประกาศของ ก.ล.ต. เพื่อสร้างมั่นใจแก่ผู้ลงทุนในระดับหนึ่ง… และเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลการระดมทุนเพื่อการให้ความรู้ หรือ Education เกี่ยวกับความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งประเมินความน่าเชื่อถือและจัดระดับความเสี่ยง หรือ Creditworthiness ด้วย
อีกหน้าที่หนึ่งของ Funding Portal คือ… ให้บริการนักลงทุนซึ่งเป็นสมาชิกของ Funding Portal โดยเฉพาะการจัดประเภทสมาชิก โดยมี Retail Investor หรือนักลงทุนรายบุคคล… กับ Non-retail Investor หรือ นักทุนที่ไม่เป็นรายบุคคล ทั้ง Venture Capital หรือ ผู้ลงทุนรายสถาบัน… Private Equity Trust หรือ กองทรัสต์เพื่อประกอบกิจการร่วมลงทุน… รวมทั้งนักลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ หรือ Qualified Investor ด้วย
ส่วนขั้นตอนและแนวทางในการระดมทุนด้วยวิธี Crowdfunding เผยแพร่โดยเวบไซต์ ก.ล.ต. ณ ปัจจุบัน ต้นปี 2021 โดยสรุปประกอบด้วย
1. บริษัทที่สนใจระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง จะนำโครงการหรือแผนการดำเนินธุรกิจ (Business Plan) ไปนำเสนอต่อ Funding Portal โดย Funding Portal มีหน้าที่คัดกรองบริษัท และเปิดเผยข้อมูลบริษัทและหลักทรัพย์ที่จะเสนอขายบนเว็บไซต์ของ Funding Portal เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน
2. ในช่วงระหว่างการระดมทุน ซึ่งจะมีระยะเวลาประมาณ 1–3 เดือน ผู้ลงทุนจะจ่ายเงินค่าจองซื้อ ซึ่งจะเก็บไว้ที่บุคคลที่ 3 ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น Escrow Agent เป็นต้น และหากผู้ลงทุนต้องการจะยกเลิกการจองซื้อในช่วงที่ยังไม่ปิดการเสนอขาย ก็สามารถทำได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมบนกระดาน หรือ Webboard ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มผู้ลงทุนด้วยกันเอง จนอาจนำไปสู่กลไกการตรวจสอบบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่เกิดจากพลังของมวลชนหมู่มาก (Power of Crowd) ได้
3. เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายแล้ว หากบริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทก็จะได้รับเงินทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และผู้ลงทุนก็จะได้หุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทไปตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
3.1 กรณีหุ้นคราวด์ฟันดิง หากบริษัทระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่าการระดมทุนไม่สำเร็จ ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินค่าจองซื้อกลับคืนไป โดยลักษณะนี้เรียกว่า “All-or-Nothing”
3.2 กรณีหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง หากบริษัทสามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายที่ Funding Portal กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนเงินที่เสนอขาย ก็ไม่ต้องยกเลิกการเสนอขาย ซึ่งมีข้อดีคือ บริษัทจะยังได้รับเงินและสามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดย Funding Portal ต้องเปิดเผยและแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้ผู้ลงทุนรับทราบก่อนการจองซื้อด้วย
ส่วนกรณีของเกษตรกรหรือธุรกิจการเกษตรซึ่งมีแผนธุรกิจ ที่สนใจระดมทุนด้วยวิธี Crowdfunding… ผมคิดว่า แม้จะยุ่งยากซับซ้อนกับขั้นตอนและแนวทางกว่าการใช้โปรแกรมเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร… แต่ถ้าแผนธุรกิจมีคนเห็นด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์ มาช่วยพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่มีความเสี่ยงเรื่องวงจรหนี้ โดยกรณีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะใช้วิธีปกป้องความเสี่ยงโดยวิเคราะห์ลูกหนี้และจำกัดวงเงิน ซึ่งส่วนใหญ่หรือทั้งหมด เกษตรกรมักจะได้เงินทุนไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการในระดับธุรกิจ…
เกษตรกรที่มีฝันและความรู้พอ… การระดมทุน Crowdfunding จึงเป็นทางเลือกที่แตกต่างในยุคดิจิทัล ซึ่งการระดมทุนมีช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ให้เข้าถึง… รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่สนใจการระดมทุน Crowdfunding ด้วยครับ
สุดท้าย… ผมมีคลิปจากงานสัมนาและถ่ายทอดผ่าน Facebook Live หัวข้อ ช่องทางการระดมทุน Crowdfunding ภาคการเกษตร ซึ่งจัดโดย เพจ depa Thailand ไว้ตั้งแต่พฤษภาคม 2563 มาฝากท่านที่สนใจจริงจังครับ
References…