ปัญหาแรงงานในภาคเกษตรของไทยในวันที่พรมแดนไม่ได้เปิดรับ “แรงงานตามฤดูกาล” ได้เหมือนเดิม ดูท่าว่าจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยในช่วงเวลาสำคัญของการเพาะปลูกข้าวนาปี และ พืชไร่พืชเศรษฐกิจอีกหลายตัว ที่ต้องอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล
ความคึกคักของ AgTech หรือ AgriTech หรือ เทคโนโลยีทางการเกษตร ในยุคปฏิวัติเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของมนุษย์ชาติ จึงพร้อมและเปิดกว้างกับเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำเกินการใช้เครื่องจักรกลช่วยงาน… ไปถึงการใช้จักรกลอัตโนมัติ และ เทคโนโลยีล้ำลึก หรือ Deep Technology เพื่อให้การผลิตสินค้าเกษตรก้าวหน้าถึงขั้นเกษตรแม่นยำ หรือ Precision Farming ซึ่งต้องใช้ทั้ง IoT และ Big Data มาช่วยทำการเกษตร… ชดเชยและทดแทนรูปแบบการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า… AgriTech ในประเทศไทยควรมุ่งไปเป็น AgriTech สำหรับการลงทุนในพื้นที่ที่จำกัด เนื่องจากสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง และ สามารถเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ… แต่เงื่อนไขความสำเร็จ จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์สภาพตลาด หรือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรในระยะยาว… แปลว่าต้องทำเกษตรให้เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบเท่านั้นหากต้องทำเพื่อการค้า จึงจะคุ้มกับการลงทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดการณ์อีกว่า… AgriTech ในไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า สอดคล้องไปกับแนวโน้มทั่วโลกที่เติบโตดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงและผู้ประกอบการมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึง AgriTech ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และ บริษัทขนาดใหญ่
ตัวเลขเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านคุณสมบัติ YSM หรือ Young Smart Farmer ในสถิติของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1,731 รายในปี 2557… เป็น 2,537 รายในปี 2562… โดยมีฝั่งของผู้ให้บริการ หรือ Solution Provider โดยเฉพาะ AgTect Startup มีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจาก 50 รายในปี 2562… เป็น 66 รายในปี 2564… โดยมี AgTect Startup ด้านการบริหารจัดการฟาร์มมีจำนวนมากที่สุด 36% ซึ่งจะเป็น AgriTech ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ และ พื้นที่ที่จำกัด เช่น… โดรนเพื่อการเกษตร… เครื่องกำจัดวัชพืชควบคุมด้วยระบบ GPS… รถแทรกเตอร์อัตโนมัติติด GPS… เครื่องเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ และ IoT เซนเซอร์ เป็นต้น
กรณีโดรนเพื่อการเกษตร จะเริ่มเห็นการนำโดรนเข้ามาใช้ในภาคเกษตรอย่างชัดเจน เกษตรกรรู้จักและให้การยอมรับในเทคโนโลยีค่อนข้างสูง เหมาะในการนำไปใช้ในพืชกลุ่ม Commodity เช่น ข้าว อ้อย มันปะหลัง และ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักของไทย… ส่วนในมิติของการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า… เงินลงทุนเริ่มต้นของโดรนเพื่อการเกษตรจะอยู่ที่ราว 0.17–0.25 ล้านบาท เพื่อทดแทนค่าจ้างแรงงานคน ที่ใช้ในการฉีดพ่นคิดเป็นมูลค่าราว 14,400 บาทต่อเดือน ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนอาจมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 12-18 เดือน…
กรณี AgriTech ในพื้นที่จำกัด เช่น โรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory… Green House… Low-Tech Plastic Hoop House… Container Farm… และ Indoor Deep-Water Culture เป็นต้น… ตัวอย่างโรงงานผลิตพืชที่สามารถผลิตพืชในระบบปิด และทึบแสงธรรมชาต และทดแทนด้วยการให้แสงจากหลอไฟ LED และสามารถปลูกในแนวตั้งได้หลายชั้น ตอบโจทย์พื้นที่ที่จำกัดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในเมือง เหมาะในการนำไปใช้ในพืชกลุ่มมูลค่าสูง หรือ High Value เช่น ผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ พืชสมุนไพร เพื่อตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ที่มีกำลังซื้อสูง
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้โรงงานผลิตพืชได้รับความนิยม คือ ราคาขายพืชที่สูงกว่าในแปลงปลูกทั่วไปราว 2-3 เท่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นออร์แกนิคมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ Farm to Table… โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า… ภาพของ AgriTech ที่ใช้ในพื้นที่จำกัดน่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่า เงินลงทุนเริ่มต้นของโรงงานผลิตพืชจะค่อนข้างสูงอยู่ที่ราว 2-3 ล้านบาท โดยมีรายได้ราว 0.52-0.69 ล้านบาทต่อปี ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนอาจมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5-6 ปี
การวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า… การส่งเสริม AgriTech ที่ไทยควรมุ่งไป น่าจะเป็น AgriTech สำหรับพื้นที่จำกัด เนื่องจากสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงและสามารถเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เงื่อนไขความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ภาพตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระบบโลจิสติกส์ตลอดสายการผลิต ความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรในระยะยาว นอกจากนี้ คงต้องอาศัยการให้การสนับสนุนจากภาครัฐร่วมด้วย เช่น การส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น
ประเด็นก็คือ การเกษตรแบบพึ่งพาแรงงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแบบเก่าคงจะยากแล้ว ถึงแม้ว่าเกษตรกรในวิถีดั้งเดิมคนสุดท้ายที่เหลืออยู่อาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน… แต่เกษตรกรในวิถีดั้งเดิมก็คงจะหายไปเกินครึ่งจากปัจจุบันในอีกไม่นานแน่นอน
ผมเชื่อของผมแบบนั้น…
References…