เว็บไซต์ asiafoodchallenge.com ได้เผยแพร่รายงานชื่อ The Asia Food Challenge Harvesting the Future ซึ่งเป็นรายงานทำนายแนวโน้มความต้องการอาหารในช่วงปี 2020-2030 ที่คาดการณ์กันว่าจะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นจนอาจจะเกิดวิกฤตอาหารขาดแคลน
The Asia Food Challenge Harvest The Future เป็นรายงานที่เกิดจากความร่วมมือของ ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ราโบแบงก์ และเทมาเส็ก
โดยเนื้อหาในรายงานพูดถึง การค้นพบแนวโน้มการขาดแคลนอาหารที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยข้อมูลในรายงานชี้ว่า กำลังซื้อจากชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียกำลังขยายตัว และคนกลุ่มนี้ ต้องการอาหารพรีเมี่ยมขึ้น ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ยั่งยืนและสะดวกสบายมากขึ้น… และคาดว่าจะมีการใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 เป็นกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030
และในรายงานเสนอแนะให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นก่อนที่จะเกิดวิกฤตด้านอุปสงค์ในอนาคต
ผมแนบ link รายงานฉบับเต็มเอาไว้ในอ้างอิงนะครับสำหรับท่านที่สนใจข้อมูลดิบ… แต่ประเด็นที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้มี 2 แง่ที่ยกเอารายงานฉบับนี้มาคุยกัน
ประเด็นแรกก็คือ โอกาสในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องมองข้อมูลจากสถาบันที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลและออกมาป่าวประกาศว่า พวกเขาสนใจจะลงทุนใน Segment อาหารสำหรับชนชั้นกลางในเอเชีย… ในมุมมองของผม โอกาสแบบนี้… สำหรับประเทศไทยและฐานความรู้ด้านเกษตรอาหารของไทย ผมถือว่านี่เป็นโอกาส เพราะถึงยังไงก็ยังถือว่า ประเทศไทยไม่เป็นรองใครในโลกแม้ว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรของเรายังไม่สามารถออกจากกรอบการใช้แรงงานคนได้มากนัก แต่ความได้เปรียบหลายอย่างของประเทศไทยก็ยังมีสูงทั้งในฝั่งการผลิตแปรรูปย้อนกลับไปจนถึงภาคเกษตรทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์…

แต่ก็มีคีย์ตัวหนึ่ง ที่อาจจะทำให้โอกาสของเราหายไปได้หมดก็คือคำว่า “ยั่งยืน” ที่หมายถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง รวมทั้งการออกแบบวงจรการเกษตรและอาหาร ให้เป็น Circular Systems ที่สมบูรณ์แบบ… ถ้ายังเผาทุ่งก่อนไถเผาไร่ก่อนขุดอยู่เหมือนเดิม… เราคงไปไม่ถึงไหน หรือแม้แต่การใช้สารเคมีอันตรายในขั้นตอนการเพาะปลูกและแปรรูป… ก็คงมีอีกคีย์หนึ่งที่เราข้ามไม่ได้แน่ๆ คือคำว่า “ปลอดภัย”
ส่วนประเด็นที่สอง… เป็นโอกาสของธุรกิจโดยเฉพาะ Startup ที่มีช่องว่างให้คิดค้นเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มาเติมเต็มวงจรธุรกิจผลิตและแปรรูปอาหารโดยยึดตลาดชนชั้นกลางในเอเชียที่แนวโน้มชี้ชัดว่า กำลังซื้อจะขยายขึ้นจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 8 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี
ซึ่งการออกรายงานชี้นำแบบนี้ จากสถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Temasek และ RaboBank ถือเป็นการบอกใครๆว่าพวกเขาสนใจจะลงทุนในธุรกิจผลิตและแปรรูปอาหารอย่างชัดเจน

ถึงตรงนี้ผมสรุปอย่างนี้ก็แล้วกัน… Agri-Food Technology คือจุดมุ่งหมายหลักที่นักลงทุนรายใหญ่กำลังมองหาโมเดลที่พวกเขาสามารถลงทุนได้ในระยะนี้… ที่จริงถ้าใครได้คุยกับผมเกี่ยวกับโมเดลอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ช่วงหลังๆ มานี้… จะได้ยินผมพูดถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินเปล่า ด้วยโมเดลการเกษตรและอาหารค่อนข้างบ่อย… นั่นเป็นเพราะการอ่านและการค้นคว้าของผม เจอแนวโน้มแบบนี้มาทั่วโลกระยะหนึ่งแล้ว
ในมุมมองของผม การผลิตและแปรรูปอาหารไม่ได้มีแต่ภูมิภาคเอเชียเท่านั้นที่กำลังเติบโต หลายท่านที่เป็นคนรุ่นผม คงจำภาพความอดอยากหิวโหยในเอธิโอเปียเมื่อ 30 กว่าปีก่อนได้ ปัจจุบันเอธิโอเปียถือเป็นประเทศดาวรุ่งเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมาหลายปี ผมกำลังพูดถึงความต้องการอาหารของฝั่งแอฟริกาที่เศรษฐกิจกำลังโตวันโตคืนในหลายๆ ประเทศ
ผมกำลังจะบอกว่า หากเราลงทุนในธุรกิจผลิตและแปรรูปอาหารที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย กินง่าย ได้อารมณ์พรีเมี่ยม สำหรับตลาดคนชั้นกลางเอเชียในช่วง 10 ปีนี้… ลำดับถัดไปโมเดลธุรกิจนี้ยังสร้าง S Curve ที่เป้าหมายทางการตลาดข้ามไปที่แอฟริกาได้อีกหนึ่งเคิร์ฟอย่างแน่นอน
รายละเอียดมีอีกเยอะครับ… แลกเปลี่ยนพูดคุยในไลน์ @properea ดีกว่าครับ
อ่อ… ผมสนับสนุนการแบนสารพิษครับ! ใครสนับสนุนให้ใช้ ช่วยเอาไปใส่กาแฟกินด้วย!
อ้างอิง