AAVE Protocol และ Flash Loans… สินเชื่อสายฟ้าแลบในโลกคริปโต

Flash Loans

ในโลกของ DeFi หรือ Decentralized Finance… ชื่อ AAVE หรือ AAVE Protocol ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม DeFi เพื่อการกู้ยืมคริปโตที่ได้ชื่อว่า… ทันสมัยและมาแรงที่สุดถึงขั้นมีการกล่าวอ้างอิงมากมายว่า AAVE เป็นแพลตฟอร์มการกู้ยืมที่มีนักลงทุนดิจิทัลเข้าใช้มากที่สุดในช่วงที่ผมเขียนต้นฉบับชุดนี้ และ ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับที่สองในวันที่ 4 พฤษภาคม 2021 จากการจัดอันดับของ DeFiPulse.com โดยพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ Locked เป็นหลักประกันในระบบ ด้วยมูลค่า 1,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… เบียดแพลตฟอร์ม Compound ที่เคยอยู่อันดับสองมาก่อน ซึ่งล่าสุดมีสินทรัพย์ค้ำประกันอยู่เพียง 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นรองอันดับหนึ่งตลอดกาลอย่าง Maker หรือ MakerDAO ซึ่งมีสินทรัพย์ค้ำประกัน Locked อยู่ 1,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… 

AAVE Protocol สร้างบน Ethereum Blockchain โดยมี AAVE Token เป็น Governance Token มาตรฐาน ERC-20 ทำหน้าที่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์ม 

สำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจโครงสร้างของแพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโต… อยากให้นึกถึงแอพมือถือที่เป็นแพลตฟอร์มธนาคารในมือท่าน เมื่อท่านโอนเงินใส่บัญชีจนตัวเลขปรากฏบนแอพ ท่านก็จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไข… แพลตฟอร์ม DeFi ก็เป็นแบบเดียวกันในฝั่งการฝากเอาดอกเบี้ย ซึ่งเรียกว่าการ Stake โดยจะเห็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นรายชั่วโมงเป็นส่วนใหญ่ต่อหน้าต่อตา… ส่วนฝั่งกู้หรือยืมคริปโต แน่นอนว่าจะต้องมีการวางหลักประกันไม่ต่างจากการกู้เงินธนาคารในระบบเดิม ที่ต้องเอาบัญชีฝากประจำไปค้ำประกัน หรือ ใช้หลักทรัพย์อื่นไปค้ำประกันเพื่อกู้ยืม… บนแพลตฟอร์ม DeFi ก็ไม่ต่างกัน บัญชีที่มีคริปโต Stake อยู่จะสามารถ “กู้ หรือ Lend และ ยืม หรือ Borrow” ได้โดยการ Locked สินทรัพย์ที่ Stake ไว้เป็นหลักประกัน… ซึ่งจะโอนหรือถอนออกไม่ได้จนกว่าจะใช้หนี้สินจ่ายดอกเบี้ยกันเรียบร้อย… หรือไม่ก็ถูกบังคับขายเพื่อเคลียร์หนี้สินกันก่อน

ง่ายๆ แค่นี้แหละครับ เพียงแต่ DeFi ทำงานอัตโนมัติบน Smart Contract หรือ สัญญาอัจฉริยะ ที่มีแต่เจ้าของสินทรัพย์กับแพลตฟอร์มเท่านั้นที่ประสานงานกัน… หรือจะเรียกว่าเจ้าของสินทรัพย์ทำอะไรเองทั้งหมดบนแพลตฟอร์มก็ว่าได้… AAVE Protocol จึงถือเป็น Non-Custodial Liquidity เต็มร้อยแบบไม่ต้องมีสมุห์บัญชีมานั่งถือเงินแทนใครให้วุ่นวาย

กรณีของ AAVE Protocol… Stakeholder หรือ ผู้ฝากคริปโตสามารถฝากคริปโตได้หลากหลายสกุลตาม Lists ที่ AAVE Protocol ขึ้นรายการรับไว้… ฝั่งการกู้หรือยืมก็สามารถกู้ยืมคริปโตได้ทุกสกุลใน Lists รวมทั้ง AAVE Token ด้วยเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยก็จะแตกต่างกันไปตามสกุลคริปโต ที่ฝังเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เอาไว้กำหนดอัตราต่างๆ อย่างชัดเจนและเปิดเผยแบบ Open Source โดยเฉพาะดอกเบี้ยฝากและดอกเบี้ยกู้ยืม… 

ความโดดเด่นของ AAVE Protocol ที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกเห็นตรงกันก็คือ… AAVE Protocol ให้กู้แบบมีหลักประกันเกินวงเงิน หรือ OverCollateralised เหมือนปกติ และ มีให้ยืมแบบไม่ต้องใช้หลักประกัน หรือ UnderCollateralised ได้ด้วย ซึ่งการให้ยืมแบบไร้หลักประกันนี้จะเป็นธุรกรรมแบบสายฟ้าแลบที่รู้จักและฮือฮากันในชื่อ Flash Loan โดยต้องยืมและคืนให้เสร็จสิ้นภายใน Block เดียว หรือชั่วเวลาในการสร้าง Blockchain 1 Block… ก็ราวๆ 10-12 วินาที บน Ethereum Mainnet

คำถามคือ… ยืมเงิน 10 วินาทีมันเด็ดยังไง?… ฟังก์ชั่นนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ Technician ที่มีพื้นฐานการเขียน Smart Contract เป็น… สามารถยืมเงินมาหาเงินแบบจับเสือมือเปล่าครับ… แต่ในทางเทคนิคก็จะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นค่า Gas เหมือนปกติทุกอย่าง ซึ่งไม่ได้เริ่มจากศูนย์เสียทีเดียว… วิธีการยืม Flash Loan จะต้องเขียน Smart Contract ขึ้นมายืมเหรียญบน AAVE Protocol แล้วสั่งไปแลกกับแพลตฟอร์ม Exchange แห่งที่ 1 เพื่อแลกจากสกุลคริปโตที่ยืมมาไปเป็นสกุลคริปโตที่ 2… และสั่งแลกคริปโตสกุลที่ 2 กลับไปเป็น “คริปโตสกุลแรกที่ยืมมาจาก AAVE” กับแพลตฟอร์ม Exchange แห่งที่ 2… แล้วสั่งให้เอาคริปโตที่ยืมมา ไปคืน  AAVE Protocol พร้อมดอกเบี้ย… เสร็จแล้วก็เอาชุดคำสั่งนี้ไป Run บน Ethereum Mainnet ซึ่งเป็นการยืมเงินมาหาส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนจากแพลตฟอร์มอย่างน้อย 2 แพลตฟอร์ม กับสกุลคริปโต 2-3 สกุลเป็นอย่างน้อยในแต่ละรอบ… บางคนจึงเรียก Flash Loan Smart Contract ว่า Flash Loan Bot ก็มี

แน่นอนว่า Flash Loan ไม่หมูสำหรับ Borrower เพราะมีทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกิดในวงจรทันทีชั่วพริบตาเช่นกัน… และฟังก์ชั่น UnderCollateralised จะไม่ทำงานถ้าชุดคำสั่งใน Smart Contract ไม่มี Replay Loan เอาเงินมาคืนพร้อมดอกเบี้ยที่ยืมไป

กรณีศึกษาการทำกำไรจาก Flash Loan ที่กล่าวถึงกันมากที่สุดกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นช่วงกุมภาพันธ์ ปี 2020 ซึ่งนักวิเคราะห์ฟันธงว่าเป็นธุรกรรมจากเซียนคอมพิวเตอร์นักเจาะระบบ หรือ Hacker มือดี ขั้นสามารถวิเคราะห์กลไกการส่งตัวแปรได้อย่างไร้ที่ติ… ซึ่งเคสนี้จับเสือมือเปล่าไปได้ 1,300 ETH หรือราว $364,364 ดอลลาร์สหรัฐ ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันนั้น ในไม่กี่วินาทีโดยไม่มีใครเดือดร้อนเสียหาย

Flash Loan Transaction, FEB 2020

แต่หลังจากกรณีกุมภาพันธ์ 2020 เป็นต้นมา… แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโตที่คิดเรื่อง Flash Loan แม้จะไม่มีแพลตฟอร์มไหนล้มเลิก แต่ก็มีข้อมูลในกลุ่มพัฒนา DeFi Platform บน Reddit และ Telegram แลกเปลี่ยนกันเรื่องพัฒนาระบบตรวจสอบ Smart Contract ก่อน Run Flash Loan ที่รอบคอบกว่าเดิมผ่าน Algorithm สารพัดไอเดีย… และในวงการยกให้ AAVE Flash Loan น่าสนใจที่สุดในห้วงเวลานี้…

คำเตือน: DeFi ไม่ใช่การออมเหมือนฝากออมทรัพย์ธนาคาร และ ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนที่มีความเสี่ยง… บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทั่วไป ไม่มีเจตนา หรือ แฝงเจตนาเพื่อชี้ชวนการลงทุนใดๆ การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องศึกษาความเสี่ยงและรับผิดชอบความเสี่ยงใดๆ ด้วยตนเอง

References

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

สินเชื่อ 3D จาก SME D Bank

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. หรือ  SME D Bank ได้นำเสนอสินเชื่อเพื่อ SMEs ไทยแบบผ่อนหลักเกณฑ์กับ “สินเชื่อ 3D” ด้วยวงเงิน 19,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี โดยเสนอให้คงอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 2 ปีแรก และ ผ่อนได้นานสูงสุด 10 ปี ช่วยบริหารต้นทุนธุรกิจ เสริมสภาพคล่อง  ลดภาระทางการเงิน คว้าโอกาสเดินหน้าธุรกิจได้เต็มศักยภาพ รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปลายปี พ.ศ. 2565

Smart City Solution Week 2019

โหมโรงกันตั้งแต่หัวปีสำหรับ งาน Smart City Solution Week 2019 ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ DEPA ร่วมกับ บริษัท เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต(เซี่ยงไฮ้) จำกัด จัดงาน “สมาร์ทซิตี้ โซลูชั่น วีค 2019 (Smart City Solution Week 2019)” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

Digital Currency

อนาคตของ Digital Currency… Bitcoin, Libra, Ethereum และ Digital Yuan

แนวโน้ม Digital Currency ในปี 2020 ซึ่งนอกจากจะเป็นปีที่มี 366 วันเพราะเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันแล้ว… กระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างยังกำหนดเอาปีนี้เป็นวาระสำคัญในการเปิดตัว…

NFTs และ Metaverse ในอุตสาหกรรมแฟชั่น

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรมบุกเบิกมาแต่ไหนแต่ไร ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมแฟชั่นในช่วงเวลาที่ NFT และ MetaVerse กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดจึงเห็นมีกิจกรรมทางการตลาดของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Dolce & Gabbana… Gucci… Philipp Plein และ Tiffany & Co. กำลังเฉิดฉายบนรันเวย์ MetaVerse อยู่ในตอนนี้