เมื่อมีการพูดถึงผู้นำ… คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “นายใหญ่” ในองค์กรที่ทุกคนรู้จักเขา แต่เขาไม่รู้จักทุกคนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง “ผู้นำในองค์กร” หลายรูปแบบต่างก็มีเรื่องมากมาย “ให้ทำ” จนการรู้จักทุกคนกลายเป็นเรื่องยากและใช้เวลามากเกินไป หรือ ถึงขั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้นำบางแบบ… แม้หลายเรื่องที่ทำจะเกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญในทัศนของผู้นำ… ยิ่งเป็นผู้นำที่อยู่ในองค์กรที่มีหน่วยงานย่อย หรือ มีสาขามากมายทั่วประเทศหรือทั่วโลก… คงไม่ง่ายที่นายใหญ่จะรู้จักทุกคนและได้ทักครบทุกคนจริงๆ แม้จะมีการเอ่ยอ้างว่ามีธุรกิจข้ามชาติบางแห่งที่ผู้นำระดับซุปเปอร์สตาร์ ได้คุยกับพนักงานของเขาทั่วโลกครบคนก็ตาม… เอาเข้าจริงๆ ก็ทำได้พักเดียวก็ไม่ไหวจะทักและเสวนาเหมือนๆ กันหมดนั่นแหละ
บริบทขององค์กรที่เต็มไปด้วยคนมากมายนี่เอง ซึ่งต่างก็มีแรงจูงใจ ต่างก็มีลักษณะเฉพาะเชิงสมรรถนะ ต่างก็มีข้อจำกัด และอะไรอื่นๆ อีกมากที่รวมกันเป็นภาพรวมขององค์กร โดยมีศูนย์กลางการขับเคลื่อนอยู่ที่ “นายใหญ่ หรือ ผู้นำระดับสูง” ซึ่งยากมากที่จะเข้าถึง “รายละเอียด” ที่บุคลากรภายใต้การนำ “เป็นอยู่ และ ทำอยู” ซึ่งซับซ้อนกว่าการทักทายทั่วไปมาก และนั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาในองค์กรด้วย
Lee Bolman และ Terrence Deal จึงได้เสนอแนวคิดภายใต้กรอบภาวะผู้นำชื่อ Four-Frame Model ซึ่งเสนอแนะ “ให้ผู้นำ” ใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจองค์กรจากมุมมองที่แตกต่างกัน 4 ด้าน… ซึ่งจะทำให้ผู้นำค้นพบมิติของ “คุณค่าที่ติดค้างอยู่กับปัญหา หรือ เข้าใจปัญหาลึกเข้าไปถึงรายละเอียดได้อีกขั้น ซึ่งการจัดการปัญหาเหล่านั้นนั่นเองที่เป็นภาระของผู้นำในขั้นที่ “ต้องทำ หรือ สร้างคุณค่าขึ้นใหม่จากปมเหล่านั้น”
Lee Bolman และ Terrence Deal ได้เผยแพร่แนวคิด Four-Frame Model ไว้ในหนังสือ Reframing Organization ของพวกเขาตั้งแต่ปี 1991 โดยพูดถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อมขององค์กรที่อยู่ในภาวะ “เปลี่ยนแปลง และ อ่อนไหว” ที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลานั้น
พวกเขาเสนอแนะให้ผู้นำจัดการปัญหาในองค์กร ด้วยการพิจารณาปัญหาและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผ่านมุมมองมากกว่าหนึ่งด้าน และ เลือกปฏิบัติตามมุมมอง หรือ กรอบความคิดที่เหมาะกับสถานการณ์ แนวคิดนี้ช่วยให้ผู้บริหารมีความยืดหยุ่น ไม่ติดยึด และมั่นใจว่าได้วินิจฉัย พัฒนา และ ตัดสินใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยพิจารณาปัญหาจากมุมมองที่ครอบคลุมแล้ว… ซึ่ง Four-Frame Model ประกอบด้วย
- Structural หรือ โครงสร้าง… กรอบคิดด้านนี้จะโฟกัสที่สถาปัตยกรรมขององค์กร เช่น เป้าหมาย โครงสร้าง เทคโนโลยี บทบาท ความสัมพันธ์ และ การประสานการทำงานขององค์ประกอบดังกล่าว โดยอาจจะมีผังการแบ่งส่วนงาน ช่วยแยกแยะให้เห็นความรับผิดชอบ การแบ่งงาน กฎระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติ ระบบ และ ลำดับบังคับบัญชา… ซึ่งประสานกิจกรรมที่หลากหลายในองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว
- Human Resource หรือ ทรัพยากรมนุษย์… กรอบคิดด้านนี้จะโฟกัสการทำความเข้าใจ “ทรัพยากรบุคคล และ ความสัมพันธ์ของบุคคลในองค์กร” ซึ่งทุกคนมีความต้องการ ความรู้สึก ความกลัว อคติ ทักษะ และ โอกาสการพัฒนา โดยกรอบนี้จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับองค์กร
- Political หรือ การเมืองภายใน… โดยกรอบคิดนี้จะโฟกัสเรื่องอำนาจ การแข่งขัน และ การได้มาซึ่งทรัพยากรที่มีจำกัด รวมทั้งปัจจัยต่างๆ อย่างคุณค่า ความเชื่อ ผลประโยชน์ พฤติกรรม และ ทักษะ… จะเป็นสภาพแวดล้อมที่กำหนดการจัดสรรอำนาจและทรัพยากร
- Symbolic หรือ สัญลักษณ์ หรือ วัฒนธรรมองค์กร… กรอบคิดนี้จะโฟกัสเรื่องคุณค่า ศรัทธา ความเป็นมา และ วัฒนธรรม ซึ่งหลักยึดตามกรอบนี้จะพิจารณา “ผลกระทบ” ที่จะเกิดกับธุรกิจ ลูกค้าและบุคลากร
สิ่งที่จะบอกก็คือ… แนวคิด Four-Frame Model ของ Lee Bolman และ Terrence Deal มีความสำคัญกับภาวะผู้นำและทักษะการนำของผู้นำยุคใหม่ ซึ่งแต่เดิมมักจะเป็นการนำแบบ “ผู้นำใช้อำนาจ” ซึ่งสืบทอดมาจากโครงสร้างการปกครองเก่าแก่อย่างระบอบขุนนาง และ ศาสนจักร… Lee Bolman และ Terrence Deal กับผลงานวิชาการด้านองค์กรและผู้นำ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นทางของแนวคิดการปฏิรูปองค์กร จากการจัดการองค์กรเชิงอำนาจ ไปสู่การจัดการเชิงบริหาร ซึ่งเปลี่ยนเป็นการนำแบบ “ผู้นำใช้ปัญญา” แทน
โดยส่วนตัวผมได้อ่านหนังสือของ Lee Bolman และ Terrence Deal คือเล่มที่ชื่อ Reframing Academic Leadership เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิง และหา Leadership Framwork หรือ Tools จากหลายๆ กรอบแนวคิดย่อยในหนังสือ มาปรับใช้กับหลายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ และ วางแผนระยะกลางถึงระยะยาวเพื่อตอบโจทย์ด้านวิสัยทัศน์เฉพาะทาง
พูดถึงวิสัยทัศน์ หรือ Vision ซึ่งโดยส่วนตัวจะตีความง่ายๆ เพียง “ความอยากได้บางอย่าง หรือ ความอยากเห็นบางสิ่ง… เกิดขึ้นในอนาคต” ที่ทุกคนมีอยู่กับตัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนขนาดของความอยากในแต่ละคนจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงใครมากแค่ไหน ให้คุณ ให้โทษกับใคร หรืออะไรแค่ไหน… อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง และ ในทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่า “ความอยากในระดับคิดคนเดียว หรือ อยากแล้วพูดโดยไม่จริงจังว่าจะทำ… เป็นวิสัยทัศน์”
Professor Dr.Lee G. Bolman เคยกล่าวไว้หลายเวทีเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับเกียรติของผู้นำชิ้นสำคัญ ซึ่งองค์ความรู้ด้านผู้นำและองค์ความรู้ด้านการจัดการองค์กร ถือเป็นเรื่องเดียวกันที่แยกไม่ออกในทางเทคนิค… คำคมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของ Lee Bolman บทหนึ่งที่ผมชอบใส่ Power Point ใช้ในหลายวาระบอกว่า… A Vision Without A Strategy Remains An Illusion… วิสัยทัศน์ที่ปราศจากกลยุทธ์ เป็นได้ก็เพียงลมลวง
Lee G. Bolman เป็นศาสตราจารย์ด้านจัดการองค์กรประจำอยู่ที่ University of Missouri-Kansas City… และเป็นอาจารย์รับเชิญจากมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League อย่าง Yale School of Organization and Management… Carnegie-Mellon University… และบรรยายที่ Harvard University กว่า 20 ปี กระทั่งก่อตั้ง National Center for Educational Leadership ภายใต้การดูแลของ Harvard School Leadership Academy เพื่อให้เป็นสถาบันหลักของทฤษฎีองค์กรและผู้นำของ Lee Bolman… ซึ่งสะท้อนว่า แนวคิดของ Professor Dr.Lee G. Bolman นั้น… ไม่ธรรมดา
References…