Exoplanet หรือ Extrasolar Planet หรือ ดาวเคราะห์นอกระบบพระอาทิตย์ดวงเดียวกับโลกของเรา ถือเป็นความท้าทายอย่างที่สุดสำหรับมนุษยชาติจากดาวโลก ที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า… วันหนึ่งเราจะส่งมนุษย์ไปเยือน Exoplanet ทั้งเพื่อตามหาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในหมู่ดาวที่มนุษย์ยังรู้จักน้อยนิด… และไปเยือนเพื่อขยายเผ่าพันธ์มนุษย์ออกไปเป็นสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตข้ามดวงดาว ให้นิยายวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นเพียงจินตนาการ กลายเป็นเรื่องจริงได้ทั้งหมด
เป้าหมายการสำรวจ Exoplanet นั้นยิ่งใหญ่กว่าการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ และ ยิ่งใหญ่กว่าความท้าทายในการตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมแบบดาวอังคาร ถึงขั้นโครงการเหล่านี้จะกลายเป็นเพียง “ต้นแบบ” ของอุตสาหกรรมอวกาศ ที่สร้างขึ้นบนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ที่มนุษย์ยังไม่รู้อีกมากเกินจะประมาณ
6 ตุลาคม ปี 1995… Michel Mayor และ Didier Queloz สองนักดาราศาสตร์จาก University of Geneva ได้ตีพิมพ์การค้นพบ Exoplanet ซึ่งเป็นบริวารของดาวฤกษ์ชื่อ 51 Pegasi และเรียกดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้ว่า 51 Pegasi b
การค้นพบ 51 Pegasi b ทำให้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2019 เป็นของ Michel Mayor และ Didier Queloz ร่วมกับ Professor James E. Peebles นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้ทำนายถึงการมีอยู่ของรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล หรือ Cosmic Microwave Background หรือ CMB ซึ่งเป็นแสงสว่างจางๆ จากเหตุการณ์บิ๊กแบงที่หลงเหลืออยู่ และการก่อตัวของอนุภาคต่างๆ หลังเอกภพเริ่มขยายตัว ซึ่งใช้ในการพัฒนาแบบจำลองบิ๊กแบง รวมทั้งความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสสารมืดและพลังงานมืดอีกด้วย
ส่วนการค้นพบ 51 Pegasi b แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกของการพบดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงในตัวเองในดาราจักรอื่น ซึ่งความพยายามถ่ายภาพ 51 Pegasi b จากหอดูดาวบนโลกก็นำมาซึ่งเทคนิคทางดาราศาสตร์มากมาย และนำไปสู่การค้นพบ Exoplanet ดวงอื่นๆ จากหลากหลายดาราจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน
ที่จะบอกวันนี้ก็คือ… อุตสาหกรรมอวกาศได้เริ่มต้นและเติบโตในเชิงพาณิชย์มานานระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นเพียงยุคเริ่มต้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในช่วงของการสำรวจ แต่มูลค่าของทุกๆ สิ่งที่เกี่ยวกับการสำรวจพบ และ ความพยายามที่จะใช้ประโยชน์ทุกอย่างที่ได้จากการค้นพบ แม้เป็นเพียง “สัญญาณการแกว่งตัวของอนุภาคแสงเพียงน้อยนิด” จากดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลออกไป ก็อาจจะนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาล…
กรณีการพัฒนาและใช้ Spectrograph ชื่อ ELODIE เพื่อวัดความถี่แสงจากดาวฤกษ์ของสองนักดาราศาสตร์รางวัลโนเบล Michel Mayor และ Didier Queloz ซึ่งสามารถวัดความถี่แสงจากดวงดาวอันไกลโพ้นได้มากถึง 142 ดวงพร้อมกัน และ นำไปติดตั้งไว้ตามหาปรากฏการณ์จากนอกโลก ณ หอดูดาว Haute-Provence ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อสังเกตหาดาวสักดวงที่จะให้สัญญาณ หรือ ข้อมูลอย่างที่ต้องการ… กระทั่งปรากฏความถี่แกว่งสูงต่ำมาจากดาวฤกษ์ 51 Pegasi ยืนยันว่ามีแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรเป็นบริวารมากระทำ… และเมื่อ 51 Pegasi b วนมาให้เห็นอย่างชัดเจนจนยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบพระอาทิตย์ดวงเดียวกับโลก… จุดหมายปลายทางของมนุษยชาติที่เคยแต่แหงนมองและเล่าขานไปตามความเชื่อก็เปลี่ยนไป
ประเด็นก็คือ… ทุกอย่างที่อยู่นอกโลกของเราล้วนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกมหาศาลเกินจะประมาณ
References…