ข้อมูลภูมิสารสนเทศของวันที่ 7 กันยายน 2022 จากดาวเทียม Radarsat-2 และดาวเทียม Sentinel-1 ในการดูแลของ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พบน้ำท่วมขังทั่วประเทศแล้วกว่า 1,655,983 ไร่ ในหลายลุ่มน้ำสำคัญทั่วไทย และ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่นาข้าว 711,235 ไร่ ซึ่งเสียหายเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านั้นช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา… รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลสถานการณ์พายุและฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคม ปี 2022 ของประเทศไทย โดยประมวลวิเคราะห์จากข้อมูลคาดการณ์ทุกภูมิภาคทั่วโลกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC… พบแนวโน้มปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 มิลลิเมตรใน 100 ปีข้างหน้า… ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับเหตุการณ์น้ำที่ท่วมหลากในปี 1995 และ 2011 ที่เกณฑ์การเกิดน้ำท่วมหนัก คือ ปริมาณฝนที่เกิน 1,200 มิลลิเมตร ซึ่งทั้งหมดจะหมายความว่า… กรุงเทพมหานครและลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดจะเจอปัญหาน้ำท่วมถี่ขึ้น และ หนักขึ้นคล้ายสถานการณ์น้ำท่วมปี 1995 และ 2011 อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก… และ คำว่า “ฝน 100 ปี” ก็ได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ผู้คนกำลังพูดถึงกันอย่างมากในช่วงนี้
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ให้รายละเอียดของปรากฏการณ์ฝนร้อยปีว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 100 ปี หรือ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก และ กินเวลายาวนานกว่าปกติ… ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ใน 100 ปีข้างหน้า แต่ก็ไม่จำเป็นต้องครบ 100 ปีแล้วค่อยเกิด เพราะฝนตกหนักและตกนานในรอบร้อยปีอาจจะเกิดในปีนี้ ปีหน้า หรืออีกร้อยปีข้างหน้าได้หมด
อย่างไรก็ตาม… สถิติพื้นที่น้ำท่วมขังเดือนสิงหาคม ปี 2011 หรือ ปี พ.ศ. 2554 จาก GISTDA ชี้ว่า… ปี 2554 มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังทั่วประเทศ 5.59 ล้านไร่ ซึ่งถ้าเทียบกับสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วมขังเดือนสิงหาคม ปี 2022 หรือ ปี พ.ศ. 2565 ที่มีเพียง 1.65 ล้านไร่… ยังถือว่าน้อยกว่าปีน้ำท่วมใหญ่กว่าสามเท่า ซึ่งถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ฝน 100 ปี ในระหว่างเดือนกันยายน–ตุลาคม 2022 แบบตกหนักและตกนานทำลายสถิติ 100 ปีย้อนหลัง… สถานการณ์น้ำส่วนเกินปีนี้ก็คง “เอาอยู่” จนถึงฤดูหนาวที่กำลังใกล้เข้ามา… แต่อะไรๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายก็ได้
References…